รมว.พลังงาน เผยไทยเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา พร้อมขอหนุนเอกชน-PTT ลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2019 19:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การหารือระดับทวิภาคีกับกัมพูชา ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ในวันนี้ กัมพูชาเสนอความเห็นให้ทั้งสองประเทศเริ่มต้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากในอดีต โดยไทยได้รับข้อเสนอและจะกลับไปพิจารณาภายในประเทศถึงสิ่งที่ดำเนินการมา และประเด็นหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ หากเห็นว่าจะมีแนวทางที่แก้ไขได้ก็จะนำไปสู่การหารือร่วมกันในอนาคตต่อไป

"วันนี้คุยกันไว้ถึงแค่ขั้นตอนนี้ว่าเราจะดูภายในของเรา และกัมพูชาก็จะดูภายในของกัมพูชา แล้วทั้งสองประเทศก็จะดูว่าปัญหานั้นมีทางออกอย่างไร ถ้าเห็นทางออกก็จะมาหารือพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้พูดกันชัดเจนในเรื่องกรอบเวลา เพราะทางเราก็จะขอดูรายละเอียดเรื่องนี้ ถ้าเห็นว่าดำเนินการต่อในสิ่งที่เป็นอุปสรรคได้ก็จะแจ้งให้กัมพูชาให้ทราบว่าเราพร้อมหารือ"นายสนธิรัตน์ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอจากไทยเป็นเรื่องการขายไฟฟ้าไปยังกัมพูชา ที่ยังมีปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ขณะที่ไทยมีความตั้งใจจะเป็นผู้ค้าไฟฟ้าในภูมิภาค โดยกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการไฟฟ้าจากไทย ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะเป็นผู้ดำเนินการก็ได้มีการเจรจากับทางการไฟฟ้ากัมพูชา และมีความก้าวหน้าระดับหนึ่งแล้ว ทำให้คาดว่าจะมีข้อตกลงที่จะขายและส่งไฟฟ้าไปยังกัมพูชา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในเร็ว ๆ นี้ ตอกย้ำความเป็นเทรดเดอร์ด้านไฟฟ้าที่เป็นนโยบายของกระทรวงในขณะนี้

นอกจากนี้อาจจะมีความร่วมมือกันในการเข้าไปผลิตไฟฟ้าในกัมพูชา เพราะกัมพูชาอยู่ในภาวะที่ต้องการการเร่งรัดในการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยได้หารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลิตไฟฟ้าในกัมพูชา โดยเฉพาะการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งบมจ.ปตท. (PTT) เป็นหนึ่งในเอกชนที่ให้ความสนใจในการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ซึ่งเป็นโครงการเดิมอยู่แล้วก็ได้หารือว่าไทยมีความสนใจหากมีโอกาสที่จะให้ไทยเข้าไปลงทุนด้านไฟฟ้าในกัมพูชา

ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะทางกัมพูชายังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันก็นับว่าเป็นนโยบายของภูมิภาคอาเซียน เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งหากกัมพูชามีความแข็งแรงและมีความพร้อมกับการเกิดโรงไฟฟ้า ก็อาจจะมีการขายไฟฟ้ากลับมายังไทยได้ในอนาคต

รวมถึงไทยยังขอการสนับสนุนจากกัมพูชาในเรื่องของที่บริษัทจะไทยจะเข้าไปขยายธุรกิจในกัมพูชาในด้านพลังงาน เช่น ปตท.มีแผนขยายธุรกิจพลังงานในกัมพูชาหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องการทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องการเป็นศูนย์กลาง LNG ในภูมิภาค ก็อยากจะขยายธุรกิจ LNG ไปยังกัมพูชาซี่งจะสอดรับกับทิศทางการหารือในเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ในเรื่องของจัดหาและขนส่ง LNG ทางรถหรือเรือขนาดเล็ก ซี่งเป็นในระดับ small scale สำหรับส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้หารือเพื่อสนับสนุนให้เกิดขึ้น และเป็นการขยายโอกาสธุรกิจก๊าซฯไปยังกัมพูชาด้วย และยังขอรับให้การสนับสนุนบริษัทจากไทยที่ให้ความสนใจเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชา

ด้านนาย Arcandra Tahar ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีนโยบายเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้านพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ,โรงกลั่นน้ำมัน ,เหมืองแร่ และธุรกิจพลังงานทดแทน

โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้เปิดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนสำรวจและผลิตตั้งแต่ปี 2558 แต่ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุน แต่เมื่อได้เปลี่ยนแปลงระบบการเปิดประมูลในปี 2560 ก็ได้ให้สัมปทานทั้งสิ้น 5 แปลง ในปี 2561 ให้สัมปทานแล้ว 9 แปลง และในปี 2562 ให้สัมปทานแล้ว 3 แปลง นอกจากแปลงสำรวจใหม่แล้ว ทางอินโดนีเซียก็ยินดีหากจะมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนในแปลงที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบันด้วยส่วน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็มีแผนระยะยาว 10 ปี ก็จะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเป็นหลัก

ส่วนการที่ไทยมีนโยบายที่ต้องการจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคนั้น ไม่อยากให้มองเป็นการแข่งขัน แต่อยากให้มองเป็นภาพรวมที่จะมีระบบการซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นเอกภาพและประโยชน์ต่ออาเซียน ส่วนอินโดนีเซียจะเข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM) หรือไม่นั้น ก็จะมีการพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่ ระบบเทคนิค ,ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ และโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศจะมีความเป็นเอกภาพและเป็นโครงข่ายที่เหมาะสมหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ