ภาคเอกชนขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่พร้อมช่วยลุ้นความหวังเรียกคืนความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2019 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาวะเศรษฐกิจไทย เดือน ก.ค.62 เดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลังที่แม้จะเห็นการส่งออกในเดือนนี้พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย แต่เป็นผลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังหดตัวสอดคล้องการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจว่ายังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง

ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจในประเทศ หลายแห่งมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 2/62 ทำให้เริ่มเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้รัฐบาลถึงกับต้องออกโรงมาชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

                              ประมาณการเศรษฐกิจปี 62 ณ เดือนสิงหาคม 2562
หน่วยงาน                             คาดการณ์ปี 62          คาดการณ์เดิม
สภาพัฒน์                                2.7-3.2%            3.3-3.8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                           3.1%                3.7%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้           2.9%                3.5%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์     3.1%                3.3%
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย               2.8%                3.3%

จากสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตราการในการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จึงได้คลอดมาตรการระลอกแรกออกมาวงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลัก คือ

มาตรการแรก เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง 112,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อ ฉุกเฉิน ปลอดดอกเบี้ยปีแรก ปีต่อไปคิดดอกเบี้ย MRR รายละไม่เกิน 50,000 บาท ใช้งบ 50,000 ล้านบาท, สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและ ซ่อมแซมความเสียหาย คิดดอกเบี้ย MRR-2 รายละไม่เกิน 500,000 บาท ใช้งบ 5,000 ล้านบาท, สนับสนุนต้นทุนการผลิตเพื่อ ปลูกข้าวนาปี 500 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 20 ไร่ ใช้งบ 57,000 ล้านบาท

มาตรการที่สอง เป็นการบรรเทากระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ 171,100 ล้านบาท ได้แก่ ส่งเสริม การท่องเที่ยวในประเทศ โดยการให้เงินคนละ 1,000 บาท และลดหย่อนไม่เกินคนละ 3,000 บาท ใช้งบ 19,100 ล้านบาท, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 52,000 ล้านบาท, สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเอสเอ็มอี 100,000 ล้านบาท

มาตรการที่สาม เป็นการลดค่าครองชีพช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,100 ล้านบาท ได้แก่ เพิ่ม เงินให้เป็นกรณีพิเศษช่วง ส.ค.-ก.ย.เดือนละ 500 บาท ใช้งบ 14,600 ล้านบาท, เพิ่มเงินให้ผู้ที่เป็นผู้สูงอายุช่วง ส.ค.-ก.ย. เป็นเดือนละ 1,000 บาท ใช้งบ 5,000 ล้านบาท, ให้เงินช่วยเหลือเพื่อการเลี้ยงดูบุตรช่วง ส.ค.-ก.ย.เดือนละ 300 บาท ใช้ งบ 500 ล้านบาท

เบื้องต้นรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้มาตรการดังกล่าวช่วยผลักดันตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวเพิ่มอีก 0.5-0.6% เพื่อดัน GDP ทั้งปีให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3%

ขณะที่ภาคเอกชนมีมุมมองต่อมาตรการดังกล่าว โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4% ทำให้ GDP ทั้งปีขยายตัวได้ถึง 3.0%-3.4%

"มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยประชาชนในแต่ละกลุ่มจะได้รับประโยชน์แตกต่างกัน โดยคาดว่าผู้มีรายได้น้อยจะซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วง 2 เดือนนี้ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมากขึ้น พร้อมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกันนักธุรกิจก็เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ความเชื่อมั่น ปริมาณสินเชื่อ และการสร้างสภาพคล่องของธุรกิจ"

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีเนื่องจากเกิดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ และช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นเรื่องดีที่มีการช่วย เหลือเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายให้รวดเร็ว

แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด (3 ก.ย.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐยังเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวตามที่ตั้งเป้าไว้เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจรัฐบาล ได้ย้ำว่าต้องเร่งกันช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

รัฐบาลจึงพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในด้านการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) มีมติเห็นชอบแพ็คเกจ Thailand Plus Package 7 ด้าน ทั้งมาตรการภาษี การพัฒนาบุคคลากร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน และเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ พร้อมทำตลาดเชิงรุก เพื่อเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า

ส่วนมาตรการมาตรการกระตุ้นการส่งออกคาดว่าจะนำเสนอในการประชุมครั้งหน้า รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว ซึ่งหากผู้รับผิดชอบดำเนินเสร็จได้ทัน

ต้องจับตาว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งหมดที่ออกมาจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีได้มากน้อยแค่ไหน และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ