สศอ.-EXIM Bank-SME Bank ลงนาม MOU เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลและบิ๊กดาต้าหนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 11, 2019 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้รวดเร็ว โดยเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านระบบ i-Industry ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ด้วยกันในลักษณะของฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าที่ช่วยตอบโจทย์และตรงใจ SMEs กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

นายพสุ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทุกสาขา ทุกระดับ และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชน โดยมี 5 แนวทางสำคัญ คือ

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นในประเทศ ต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและญี่ปุ่น

2. การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ให้เติบโตและเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ตอบโจทย์วิถีไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเตรียมยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 6,400 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึงกว่า 1,050 ล้านบาท และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงข้างต้น ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตนเอง

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ (Special Economic Zone & Area-based Development) เพื่อยึดโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ ชูโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร (Agricultural-driven เชื่อมโยงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social and Environment) โดยมุ่งเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พัฒนาระบบจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ

5. การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่Smart Government โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์ Eco Sticker รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลและโครงข่ายการให้บริการในด้านต่าง ๆ ของกระทรวงฯ โดยใช้ดิจิทัล หรือระบบ i-Industry ซึ่งการปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้ นายพสุ กล่าวปิดท้าย

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จะเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสถาบันทางการเงิน ในการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าร่วมกันผ่านระบบ i-Industry ส่งผลให้มีการให้บริการแหล่งเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมและสามารถใช้ข้อมูลจาก Big Data ในการดำเนินนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ตอบโจทย์และตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ