ศูนย์วิจับกสิกรฯ คาดโครงการประกันข้าว-ยาง-ปาล์มน้ำมันผลักดันรายได้เกษตรกรทั้งปีโต 3.5–3.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 13, 2019 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากปัจจัยด้านปริมาณผลผลิตครึ่งปีหลังที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นและผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกรข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จะเริ่มมีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะผลักดันรายได้เกษตรกรทั้งปีให้เร่งตัวขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่ารายได้เกษตรกรทั้งปี 62 จะเติบโตในช่วง 3.5-3.8% (YoY) สูงกว่ากรณีไม่มีโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งคาดว่ารายได้เกษตรกรทั้งปีจะเติบโตในช่วง 1.8-2.2% (YoY)

อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากยืดเยื้อยาวนานและมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้รายได้เกษตรกรเติบโตได้น้อยกว่ากรอบล่างของประมาณการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะประเมินผลกระทบเป็นระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนานจนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตข้าวและอ้อยในช่วงครึ่งปีแรกให้ลดลง 4.2% และ 2.9% (YoY) ตามลำดับ แต่ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรรวมยังคงเติบโตเล็กน้อยที่ 0.4% (YoY) ซึ่งเป็นผลหลักจากปริมาณผลผลิตในกลุ่มไม้ผล ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรครึ่งปีแรกปรับตัวสูงขึ้น 1.1% (YoY)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตภาคเกษตรทั้งปียังคงให้ภาพเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.2% (YoY) ซึ่งประกอบกับผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรทั้งปีให้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62 ภาครัฐได้มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพืชเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร โดยเมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2562/2563 รอบที่ 1 และโครงการประกันรายได้ชาวสวนปาล์มน้ำมัน 2562/2563 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมนำเสนอโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางต่อคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไป ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการประกันรายได้เกษตรกรสำหรับสินค้าเกษตรชนิดอื่นออกมาเพิ่มเติม

จากสถานการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยปริมาณผลผลิตข้าวครึ่งปีหลังจะหดตัวเพียง 0.2% (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่หดตัว 4.2% (YoY) ถึงแม้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนจะถูกน้ำท่วมเสียหายจากอิทธิพลพายุโพดุล แต่คงส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในระดับจำกัดประมาณ 0.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,800 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์อุทกภัยจะบรรเทาลงภายในเดือน ก.ย.และเกษตรกรสามารถกลับมาปลูกข้าวได้ในเดือน ต.ค. ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวรวมทั้งปี 62 จะอยู่ที่ระดับ 31.96 ล้านตัน ซึ่งหดตัวเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 1.2% (YoY)

ด้านปริมาณผลผลิตยางพาราในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.3% (YoY) ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกตามช่วงเวลาเก็บเกี่ยวหลักทำให้ปริมาณผลผลิตรวมอยู่ที่ 4.94 ล้านตัน ในขณะเดียวกันภาครัฐได้มีมาตรการส่งเสริมให้เกิดอุปสงค์ในประเทศผ่านการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐนำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการประชารัฐและเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนยางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

สำหรับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันครึ่งปีหลังอาจปรับตัวลดลงที่ 1.4% (YoY) เนื่องจากผ่านพ้นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหลักมาแล้ว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตรวมอยู่ที่ 16.80 ล้านตัน ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมให้นำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตน้ำมันดีเซล B20 และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับอุปทานน้ำมันปาล์มดิบบางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ