บอร์ด BOI เห็นชอบมาตรการเร่งรัดลงทุน รองรับการย้ายฐานและกระตุ้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่, ไฟเขียวเพิ่มอ.จะนะเป็นเมืองต้นแบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 20, 2019 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สืบเนื่องจาก Thailand Plus Package ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ 2 ด้าน ดังนี้

1. มาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและกระตุ้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดให้กิจการเป้าหมายในกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ที่ตั้งนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปีด้วย

ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 และต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท ภายในปี 2564

2. มาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความพร้อมด้านกำลังคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอบรมพนักงานและมีส่วนร่วมในการพัฒนานักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งสถานฝึกฝนวิชาชีพ/สถาบันการศึกษาในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิสวกรรม (STEM) ระดับสูง โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรม ให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรไปรวมคำนวณในวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายขั้นต่ำใน 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ Work-Integrated Learning จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มวงเงินยกเว้นภาเงินได้นิติบุคคล 1 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

กรณีที่ 2 กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือส่งพนักงานไปอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายในปี 2564 และก่อนสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ

2) มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ (บริษัทแม่) ที่ดำเนินธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม หากลงทุนจัดตั้งสถานศึกษา หรือสถานฝึกฝนอาชีพ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาด้าน STEM ระดับสูง และได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนที่ใช้ลงทุนตั้งสถาบันฯ ส่วนสถาบันฝึกฝนอาชีพหรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้นให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2564 และผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้อนุมัติให้เพิ่มอำเภอจะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจไปยังนานาประเทศมากขึ้น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับเมืองต้นแบบ 3 แห่งแรก คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา และอ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี สำหรับโครงการใหม่ และ 5 ปี สำหรับโครงการเดิม และข้อผ่อนปรนเป็นพิเศษอื่นๆ ที่แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป เช่น ลดหย่อนอากรขาเข้า 90% ของอัตราปกติ สำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ