รมช.เกษตรฯ ลุยตรวจสอบขั้นตอนนำเข้าสารเคมีเกษตรอันตราย พร้อมนั่งปธ.คกก.ร่วม 4 ฝ่าย ยันแก้ปัญหาได้ใน 60 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2019 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลฟอเซต ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้รับตัวเลขสต็อกของสารเคมีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ และต้องการลงพื้นที่สุ่มตรวจและเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เพราะประชาชนเป็นผู้ใช้ ดังนั้นต้องรู้ข้อมูลว่าสิ่งที่ใช้นั้นมีความเป็นพิษหรือไม่

สำหรับสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต หลังจากที่ถูกสั่งห้ามนำเข้าตั้งแต่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตรายที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าไม่พบมีการนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ แต่แม้จะไม่มีการนำเข้า 3 สารเคมีดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังคงค้างอยู่ในสต็อก

พร้อมกันนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตกระบวนการนำเข้าสารเคมีที่มีการปะปนกันมามากกว่าหนึ่งชนิดในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันหรือไม่ เช่น 3 ตู้ มี 3 สารปนกันอยู่ในแต่ละตู้ ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบ และอาจมีการปลอมปนเข้ามาได้ จึงเสนอให้มีการแยกสารแต่ละชนิดอยู่แต่ละตู้

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่มีมติออกมาชัดเจน และขอยืดระยะเวลาพิจารณาออกไป ก็เท่ากับปล่อยให้สารเหล่านี้สามารถยืดเวลาการขายต่อไปได้อีก

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า แค่อำนาจของรมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถที่จะแบน 3 สารเคมีอันตรายได้ทันที แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกัน ซึ่งการแบนจะส่งผลกระทบกับผู้นำเข้าและผู้เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะมีการยกระดับโรงงานที่นำเข้าให้มีมาตรฐานสากล รัดกุมมากกว่านี้

จากนั้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยเข้าไปที่บริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้าพาราควอต และไกลโฟเซต เพื่อตรวจสอบสต็อกการนำเข้าและคงค้าง โดยเจ้าหน้าที่บริษัทให้ข้อมูลว่า ปี 2562 ได้นำเข้าสารทั้ง 2 ชนิดจริง และมีใบอนุญาต โดยพาราควอต นำเข้า 190 ตัน ส่วนไกลโฟเซต นำเข้า 370 ตัน

ขณะเดียวกัน มีอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าของเดียวกัน สามารถนำเข้าได้เพียงสารพาราควอต ซึ่งปี 2562 นำเข้ามาแล้ว 54 ตัน โดยสารทั้ง 2 ชนิด ได้จำหน่ายต่อให้กับร้านค้า และบางส่วนอยู่ในมือเกษตรกรแล้ว จึงไม่มีสต็อกตกค้างที่บริษัท

ทั้งนี้ ทีมงานของ รมช.เกษตรฯ ได้ขอเอกสารการนำเข้าและปริมาณของสารเคมีอันตรายทั้ง 2 ชนิด เพื่อนำกลับไปตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ เบื้องต้นพบว่าตัวเลขไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ได้ถือโอกาสตรวจสอบสารกำจัดแมลงและศัตรูพืช ไดคลอร์วอส และควินคอลแรก ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนำเข้าจากประเทศจีน บรรจุอยู่ในถังพลาสติก 200 ลิตร รวมทั้งหมด 32,000 ลิตร ซึ่งทีมงานได้เก็บตัวอย่างของสารไปตรวจสอบว่าตรงตามที่แจ้งนำเข้าหรือไม่

"จากการตรวจสอบ พบว่าผู้ประกอบการแจ้งให้ทราบด้วยว่ามีสารเคมีที่สามารถทดแทน 3 สารเคมีอันตราย (พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต) ซึ่งเกษตรกรก็ทราบอยู่แล้วว่ามีสารทดแทน สำหรับตัวเลขของบริษัทที่นำเข้าสารเคมี กับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรที่ไม่ตรงกัน จะต้องไปดูอีกครั้งว่าเพราะอะไร" รมช.เกษตรฯ ระบุ

สำหรับการดำเนินการต่อไปนั้น จากหนังสือสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ภาคส่วน จะป็นกลไกในการทำงาน โดยจะขอเสนอตัวเองเป็นประธานกรรมการชุดนี้ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมั่นใจว่าจะสามารถทำงานแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน หรืออาจจะไวกว่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ