ปลัดพลังงาน คาดสรุปกรณีวางหลักประกันรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ ในมี.ค.63 หลังเอกชนผู้รับสัมปทานมีข้อมูลแย้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2019 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65 และ 66 กับผู้ที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบันนั้น การดำเนินการยังเป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเมื่ออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานให้วางหลักประกันการรื้อถอนเต็มจำนวนไปแล้ว แต่ทางผู้ได้รับสัมปทานไม่เห็นด้วย ก็สามารถทำข้อมูลแย้งมาได้ ทางกรมเชื้อเพลิงฯ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 180 วัน

โดยผู้ได้รับสัมปทานในปัจจุบันทั้งเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณ , กลุ่มโมเอโกะ ผู้ร่วมทุนในแหล่งเอราวัณ และโททาล ผู้ร่วมทุนในแหล่งบงกช ได้ทำหนังสือถึงกระทรวง เมื่อกลางเดือน ก.ย.62 ก็จะครบเวลาพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ในกลางเดือนมี.ค.63 หลังจากนั้น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯก็จะทำหนังสืออีกครั้งถึงผู้ได้รับสัมปทานให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนภายใน 120 วัน ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ และมีการฟ้องร้องก็อาจจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป

อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า ในการพิจารณาข้อมูลรอบใหม่จะสามารถตกลงเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยภาครัฐพร้อมรับฟังข้อมูล บนพื้นฐานหลักการของกฏหมาย ที่ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม บนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม หลังหมดสัญญากับภาครัฐ ส่วนวงเงินค้ำประกันจะเป็นอย่างไรต้องมาหารือในรายละเอียด โดยทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าการดำเนินการจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ให้รายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการหลังหมดอายุสัมปทานในปี 65-66

อนึ่ง กรณีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกกฏกระทรวง ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของแท่นผลิตหรือสิ่งติดตั้ง ที่รัฐไม่ได้รับโอน และส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อกำหนดที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 โดยเมื่อวันที่13 มิ.ย.62 อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ส่งหนังสือถึงผู้รับสัมปทานในปัจจุบันให้วางหลักประกันรื้อถอนแท่นเต็ม จำนวนภายใน 120วันหรือครบกำหนดวันที่ 11 ต.ค.62 ประกอบไปด้วย แหล่งเอราวัณ 200 แท่น วงเงินราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งบงกช 100 แท่น วงเงินราว 1,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม เอกชนผู้ได้รับสัมปทานในปัจจุบันไม่เห็นด้วย และมองว่าการออกกฏกระทรวงดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรม โดยเห็นว่าการวางหลักประกัน ควรวางหลักประกันเฉพาะแท่นที่รื้อถอนจริงเท่านั้น ส่วนแท่นไหนที่ผู้ชนะประมูลรายใหม่ คือบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และพันธมิตรใช้งานได้ต่อ ก็ไม่ควรวางหลักประกันเต็มจำนวน โดยเมื่อได้ข้อมูลใหม่กรมเชื้อเพลิงจะต้องเร่งสรุปว่าแท่นใดจะใช้งานได้ต่อภายสื้นปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อจะได้กำหนดเรื่องการวางหลักประกันรื้อถอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ