นายกฯ สั่งการให้ดีป้าเดินหน้าใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ASEAN Digital Hub

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2019 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมหารือในหัวข้อ "แนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่ ASEAN Digital Hub" โดยสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐสำคัญอย่าง "ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์" พื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และขยายตลาดในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนก้าวสู่ตลาดเชิงพาณิชย์

พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมภารกิจของดีป้า โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า คณะผู้บริหาร พนักงาน และผู้แทนจากภาคเอกชนให้การต้อนรับ

โดยนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีพาร์ทเนอร์ผู้ประกอบการตั้งอยู่ด้วยเพื่อให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เช่น NB-IoT cloud computing หุ่นยนต์ (Robotic) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งทดลองใช้เครื่องตรวจจับใบหน้าและอารมณ์ ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีอารมณ์ดีเกิน 90% พร้อมใช้บริการหุ่นยนต์นำทางเข้าห้องประชุมพบผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้คนไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ขณะเดียวกันหาจุดร่วมในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนยุคเก่าและยุคใหม่ เน้นการรวมกลุ่ม เพื่อให้รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ตรงเป้าหมาย และอยากให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพร่วมเป็นขบวนรถไฟที่ 12 กับรัฐบาลนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเดินหน้าไปด้วยกันตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ

และสิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศในขณะนี้คือส่งเสริมกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ และ SME ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยขอให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันศึกษานโยบายรัฐบาล และหาแนวทางเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น โครงการ EEC เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่คล้อยตาม และผู้ใหญ่ต้องรับแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาด้านการลงทุนที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกันการประกอบธุรกิจต้องให้ได้มาตรฐานสากล และต้องเข้าสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ โดยแนะนำให้สตาร์ทอัพรวมกลุ่มกัน เพื่อที่รัฐบาลจะได้ส่งเสริมได้ตรงกลุ่มมากที่สุด และเมื่อเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด รัฐบาลก็จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และช่วยให้ข้อมูลด้านการบริหารที่ถูกต้อง ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย

นายกรัฐมนตรียังได้รับข้อเสนอของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เสนอให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ เรื่องการให้หุ้นพนักงาน รวมถึงการปรับตัวและอยู่รอดของร้านค้าปลีก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ