รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาตรวจความพร้อม 2 นิคมฯ รองรับการลงทุนในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2019 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ระยะที่ 2/2 และระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ บนพื้นที่รวม 1,248 ไร่ และการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (SEZ) ระยะที่ 1 จำนวน 629 ไร่

โดยทั้ง 2 โครงการถือเป็นพื้นที่การลงทุนที่มีศักยภาพ พร้อมรองรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและคลัสเตอร์ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่อยู่ในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า เป็นต้น ซึ่งการพัฒนานิคมฯ ทั้งสองแห่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น

ปัจจุบัน มีกลุ่มนักลงทุนจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน มาเลเซีย และไต้หวัน แสดงความสนใจในการเข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อขยายการลงทุน โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่ได้เปิดดำเนินการให้บริการกับนักลงทุนไปแล้ว และมีนักลงทุนเข้าใช้พื้นที่กว่า 62 ไร่ เพื่อใช้พื้นที่เพื่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตในกลุ่มถุงมือยาง เครื่องนอนยางพารา และเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น Logistic Packaging เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 629 ไร่ คิดเป็น 51% พื้นที่สาธารณูปโภค 619 ไร่ คิดเป็น 49% และพื้นที่โครงการโรงงานมาตรฐานให้เช่า 25 ไร่ สำหรับรองรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาประกอบกิจการเต็มพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกิจการประเภทยางรองส้นเท้า รองเท้าแตะ กรวยยางจราจร จอกนาโน ที่รองแก้วน้ำ ถุงมือ หมอนยางพารา ยางคอมปาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป

นับเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับผลผลิตราคายางให้สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี โดยในส่วนของความต้องการใช้ยางของโรงงานมาตรฐานจากเดิม 4,200 ตันต่อปี เป็น 42,000 ตันต่อปี มีสัดส่วนเป็น น้ำยางข้นประมาณ 60% และยางแผ่นรมควันประมาณ 40 % ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่บริเวณรอบนิคมฯ ในอนาคต

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 629 ไร่ ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนเริ่มเข้ามาติดต่อและแสดงความสนใจ ทั้งจากนักลงทุนไทย จีน และ มาเลเซีย จำนวนหลายราย เพื่อที่จะตัดสินใจเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงระบบขนส่งที่ครบวงจร ที่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านที่สำคัญของภาคใต้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย

นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่สามารถเชื่อมโยงนิคมฯ ยางพารา (Rubber City) ที่จะช่วยสร้างระบบคลัสเตอร์ยางพาราที่มีความสมบูรณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ กนอ.เป็นผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการ Thailand Plus ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านมาได้มีการเดินสายไปยังประเทศต่าง เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับนิคมฯดังกล่าว กนอ.ได้จัดแบ่งโซนพื้นที่เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 347 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลาง พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่สีเขียว ซึ่งได้ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่ทุกภาคส่วนทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวน 283 ไร่ นิคมฯ สงขลาแห่งนี้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งที่ 2 ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจังหวัดสงขลาประมาณ 13,800 ล้านบาทในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ