เครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย เสนอรมว.พลังงาน ตั้งบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหนุนโอกาสประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2019 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย สาโรวาท ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) กลุ่มเครือข่ายฯได้เข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานและคณะ เพื่อขอให้เร่งรัด ปรับนโยบาย มาตรการในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแบบบูรณาการโดยตรง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเตรียมความพร้อม การรองรับที่จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ โดยเร็ว อีกทั้งยังจะไม่ทำให้เสียโอกาสอนาคตของประเทศด้วย ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงานก็เห็นด้วยและพร้อมรับไว้พิจารณา

สำหรับแนวทางที่นำเสนอทั้ง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. การเร่งรัดและปรับนโยบาย แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปในเชิงรุก ปรับเวลา แผนส่งเสริมให้รวดเร็วขึ้น ในทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานของโลก 2.จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแบบบูรณาการโดยตรง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แผนงานเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งจัดทำโรดแมพควบคุม กำกับดูแล และประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน

3. การจัดให้มีการเตรียมการเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ในระยะเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานครั้งสำคัญ โดยมีแผนงานต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนแผนทางอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สอดคล้องสภาวะของโลกในระยะยาว ตลอดจนการจัดทำแผนเตือนล่วงหน้า ของภาครัฐและเอกชนในการให้ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริงทันเหตุการณ์แก่ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่องที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกหน่วยงาน ควรจะมีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมีระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปได้

"ที่เราเสนอไปวันนี้มี 3 ข้อใหญ่อันที่หนึ่งที่สำคัญคือที่เราพูดกันว่าจะต้องมีหน่วยงานกลาง เพราะขณะนี้มีความเกี่ยวข้องอยู่ในหลายกระทรวงต่างคนทำโน่นนิดทำนี่หน่อย เราก็เสนออันแรกคือต้องบูรณาการ อันที่สองคือการเร่งรัดนโยบาย ที่ออกมามันเก่ามากตั้งแต่ปี 59 กระทรวงพลังงานเป็นคนออกนโยบายที่ออกมาหลัก ๆ เพื่อจะรองรับรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 คิดเป็นแค่ 0.007% ของรถทั้งหมดที่เรามีอยู่สาม 38 ล้านคันจำนวนก็น้อย ระยะเวลาก็ยาว แล้วจะไม่ทันคนอื่นเพราะตอนนี้จีนก็เข้ามาตีตลาดแล้ว อันที่สามเราก็มี early warning คือทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้รู้ว่าจะทำตัวอย่างไรในการเปลี่ยนผ่าน เราต้องมีแผนรองรับที่ชัดเจนว่าจะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเมื่อไหร่อย่างไร"นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า นอกจากนี้ในด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลควรจะจัดหาให้มีเพียงพอ โดยเฉพาะสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ปัจจุบันยังมีไม่มากเพียงพอทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจในการที่จะผลิตจำหน่ายและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญราว 30% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน ,โรงประกอบรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการเกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมาตรการอื่น ๆ อาจจะยังไม่จูงใจพอ หรืออาจล่าช้าเกินไป

ปัจจุบันไทยมีข้อตกลง FTA กับจีน ทำให้การนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากจีนไม่ต้องเสียภาษีการนำเข้า ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 61 ทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าที่ส่งมาจากจีนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ และคาดว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะถูกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจรถยนต์ขนานใหญ่ รวมถึงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

สำหรับเป้าหมายของเครือข่าย ต้องการเห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างไรให้เกิดขึ้นในประเทศ เพราะยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน จากเดิมที่เคยมีค่าใช้จ่ายสำหรับเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 2.50 บาท/กิโลเมตร ก็จะเหลืออยู่ 0.40 บาท/กิโลเมตร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ