(เพิ่มเติม) นายกฯ ระบุจัดทำงบประมาณปี 63 ภายใต้คาดการณ์ GDP โตราว 3-4% จากปี 62 คาดโต 2.7-3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2019 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก โดยระบุว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้จัดทำขึ้นภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ 3-4% ซึ่งเติบโตดีขึ้นจากปี 2562 พร้อมคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 63 อยู่ในช่วง 0.8-1.8%

"เศรษฐกิจไทยปี 63 มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่เติบโตได้ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่สามารถปรับตัวได้ดีต่อการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศเติบโตได้ดีขึ้น จากการลงทุนของภาครัฐที่เติบโตตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 63-64" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่ 4.69 แสนล้านบาท มีการประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.73 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 74.8 % ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.55 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 6.27 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 8.91 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 428,190.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.4% ของวงเงินงบประมาณ โดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความมั่นคงความปลอดภัย และความสงบสุขของประเทศ การสร้างบทบาทของไทยในอาเซียนและเวทีโลก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.9% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว อย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาภาคเกษตรสร้างมูลค่า การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็น จำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.8% ของวงเงินงบประมาณ โดยปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับศักยภาพของแรงงาน เพื่อวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 765,209.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.9% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกระจายศูนย์กลางความเจริญให้ทั่วถึง เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118,700.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เชิงนิเวศและให้ความสำคัญกับการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 504,686.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.8% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้ ปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย เสมอภาค เป็นธรรม มีความเป็นสากล ตลอดจนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว และทั่วถึง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ