พาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ก.ย.62 ขยายตัว 10%YoY และเพิ่มขึ้น 16% MoM

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2019 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน ก.ย.62 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,954 ราย เพิ่มขึ้น 981 ราย หรือ 16% จากเดือน ส.ค.62 ที่มีจำนวน 5,973 ราย และเพิ่มขึ้น 641 ราย หรือ 10% จากเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 6,313 ราย

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 669 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 391 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 239 ราย คิดเป็น 3% ขณะที่มีมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวนทั้งสิ้น 28,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 11,143 ล้านบาท หรือ 65% จากเดือน ส.ค.62 ที่มีจำนวน 17,172 ล้านบาท แต่ลดลงจำนวน 19,712 ล้านบาท หรือ 41% จากเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 48,027 ล้านบาท

เมื่อจำแนกตามช่วงทุนแล้ว พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 5,035 ราย คิดเป็น 72.40% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,789 ราย คิดเป็น 25.73% ตามด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 103 ราย คิดเป็น 1.48% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 27 ราย คิดเป็น 0.39%

ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/2562 (ก.ค.-ก.ย.62) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 19,386 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,914 ราย หรือ 11% จากช่วงไตรมาส 2/2562 (เม.ย.-มิ.ย.62) ที่มีจำนวน 17,472 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 663 ราย หรือ 4% จากช่วงไตรมาส 3/2561 (ก.ค.-ก.ย.61) ที่มีจำนวน 18,723 ราย

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,812 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,065 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 622 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ ขณะที่มีมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวนทั้งสิ้น 68,353 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,988 ล้านบาท หรือ 5% จากช่วงไตรมาส 2/2562 ที่มีจำนวน 65,365 ล้านบาท แต่ลดลงจำนวน 29,261 ล้านบาท หรือ 30% จากช่วงไตรมาส 3/2561 ที่มีจำนวน 97,614 ล้านบาท

เมื่อจำแนกตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 13,993 ราย คิดเป็น 72.18% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 5,008 ราย คิดเป็น 25.83% ตามมาด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 328 ราย คิดเป็น 1.69% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 57 ราย คิดเป็น0.30%

ทั้งนี้ส่งผลให้มีธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) จำนวน 57,608 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,337 ราย หรือ 2% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 56,271 ราย ขณะที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมจำนวน 186,109 ล้านบาท ลดลง 54,377 ล้านบาท หรือ 23% จากช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 240,486 ล้านบาท

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สำหรับธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน ก.ย.62 มีจำนวน 1,938 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 183 ราย หรือ 10% จากเมื่อเดือน ส.ค.62 ที่มีจำนวน 1,755 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 39 ราย หรือ 2% จากเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 1,899 ราย

โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 158 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 127 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 44 ราย คิดเป็น 2% ตามลำดับ ขณะที่มีมูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการจำนวนทั้งสิ้น 15,361 ล้านบาท ลดลงจำนวน 13,572 ล้านบาท หรือ 47% จากเมื่อเดือน ส.ค.62 ที่มีจำนวน 28,933 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นจำนวน 8,806 ล้านบาท คิดเป็น 1.3 เท่า จากเมื่อเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 6,555 ล้านบาท

เมื่อจำแนกตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,395 ราย คิดเป็น 71.98% รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 446 ราย คิดเป็น 23.01% ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 88 ราย คิดเป็น 4.54% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 9 ราย คิดเป็น 0.47%

ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/2562 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการจำนวน 5,287 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,908 ราย หรือ 56% จากเมื่อช่วงไตรมาส 2/2562 ที่มีจำนวน 3,379 ราย แต่ลดลงจำนวน 40 ราย หรือ 0.8% จากช่วงไตรมาส 3/2561 ที่มีจำนวน 5,327 ราย ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ปกติที่จะมีแนวโน้มของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจในช่วงปลายปี

โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 456 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 323 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 131 ราย คิดเป็น 2% ตามลำดับ ขณะที่มีมูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในไตรมาส 3/2562 จำนวนทั้งสิ้น 52,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 40,232 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2 เท่าจากเมื่อช่วงไตรมาส 2/2562 ที่มีจำนวน 12,341 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจำนวน 29,580 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3 เท่าจากเมื่อช่วงไตรมาส 3/2561 ที่มีจำนวน 22,993 ล้านบาท

เมื่อจำแนกตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 3,700 ราย คิดเป็น 69.98% รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 1,305 ราย คิดเป็น 24.68% ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 250 ราย คิดเป็น 4.73% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 32 ราย คิดเป็น 0.61%

ทั้งนี้ส่งผลให้มีธุรกิจเลิกสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) จำนวน 11,954 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 338 ราย หรือ 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 11,616 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจเลิกสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 74,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,588 ล้านบาท หรือ 20% จากช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 62,321 ล้านบาท

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สำหรับธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 ก.ย.62) จำนวน743,073 ราย มูลค่าทุน 18 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 183,862 ราย คิดเป็น 24.74% บริษัทจำกัด จำนวน 557,955 ราย คิดเป็น 75.09% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,256 ราย คิดเป็น 0.17%

เมื่อจำแนกตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 440,101 ราย คิดเป็น 59.23% รวมมูลค่าทุน 0.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 217,186 ราย คิดเป็น 29.23% รวมมูลค่าทุน 0.71 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.94% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 70,444 ราย คิดเป็น 9.48% รวมมูลค่าทุน 1.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.61% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,342 ราย คิดเป็น 2.06% รวมมูลค่าทุน 14.99 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.28% ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวในเดือน ก.ย.62 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 48 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 18 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 30 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 17,594 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 15 ราย เงินลงทุนกว่า 15,410 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 307 ล้านบาท และจีน 6 ราย เงินลงทุน 718 ล้านบาท

ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจำนวน 448 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 101,579 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 106 ราย (19%) ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 28,680 ล้านบาท (39%) เนื่องจากในปี 62 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือสำหรับผลิตและเก็บปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เป็นต้น

นายวุฒิไกร คาดการณ์ว่าสถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ไตรมาส 4/62) จะใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มการจดทะเบียนในไตรมาสสุดท้ายของปีลดลงตามแนวโน้มฤดูกาลในช่วงสิ้นปี และสภาพเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ