(เพิ่มเติม1) นายกฯ ประชุมครม.เศรษฐกิจด่วนเช้านี้ มอบพาณิชย์-แรงงาน-ตปท.หาทางออกสหรัฐฯตัด GSP ไทย,หารือรถไฟไทย-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2019 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในช่วงเช้าวันนี้ ก่อนเริ่มการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าจะมีการหยิบยกกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) ของไทย โดยในการประชุมมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เข้าร่วมด้วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจช่วงเช้าได้มีการหารือใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1.เรื่องรถไฟไทย-จีน และ 2. เรื่องที่สหรัฐประกาศตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าไทย

โดยประเด็นเรื่องรถไฟไทย-จีนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกขึ้นมาหารือ เนื่องจากเห็นว่าในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีของจีนมีกำหนดการจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งมีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีของจีน ถึงแนวทางการขับเคลื่อนและลดปัญหาอุปสรรคของโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น "เป็นการคุยเตรียมการที่นายกฯ จีนจะมา ว่าจะทำอย่างไรให้ไทยและจีนสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคจะมีแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างไร นี่คือแนวทาง...มันเป็นจีทูจีด้วย แบบที่จีนไม่เคยทำ ซึ่งยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ต้องคุยกัน เพื่อหาทางขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น" นายกอบศักดิ์ระบุ ส่วนประเด็นเรื่อง GSP นั้น ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจได้หารือกันเกือบครึ่งชั่วโมง ถึงแนวทางที่รัฐบาลไทยได้เตรียมดำเนินการ ซึ่งจะต้องเป็นความร่วมมือกันในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฎฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่หลักในการให้รายละเอียดต่อสื่อมวลชน

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบให้กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าเรื่องใดสามารถทำได้หรือไม่ได้ เช่น กรณีที่สหรัฐฯ อ้างเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานต้องไปทำความเข้าใจ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่ายังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯได้ แต่หากถูกตัดสิทธิ GSP จะทำให้มีภาระทางภาษีนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังมีช่องทางให้สหรัฐฯ ทบทวนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ ประสานกับทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และทูตแรงงานหารือกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative : USTR)โดยต้องรอผลการหารือว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการก่อนหน้านี้ภายใต้กลไก กรอ.พาณิชย์ ที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งได้เตรียมการบุกตลาดทั่วโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออก ซึ่งเคยมีมติจะเร่งรัดการส่งออกบุก 10 กลุ่มตลาดใหญ่ โดยรวมกลุ่มตลาดสหรัฐอยู่ด้วย ซึ่งมีแผนเจาะตลาดรายรัฐที่อาจมีความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จะใช้โอกาสในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 พูดคุยกับทางสหรัฐฯ กรณีประกาศระงับการให้สิทธิ GSP สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย เนื่องจากรมว.พาณิชย์ของสหรัฐฯ จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ทางสถานทูตไทยในสหรัฐฯ จะมีการพูดคุยกับ USTR

นายดอน กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการหารือกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเจรจากันมานานแล้ว ซึ่งยังสามารถใช้หลายวิธีในการพูดคุยได้ เชื่อว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนจะสามารถพูดคุยกันได้

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายจับตาว่าการประกาศ GSP ตรงกับช่วงเวลาที่จะมีการประชุมใหญ่ในประเทศไทยนั้น รมว.ต่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะการประชุมมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วและมติเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ