รัฐบาล ยันมีแผนรองรับหากไม่สามารถเจรจาคืนสิทธิ GSP ได้ ส่วนประเด็นแรงงานที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณา-รอฟังความเห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2019 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ได้มีการหารือถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งจะมีผลในเดือนเม.ย.63 โดยยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการที่ไทยยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดของสหรัฐฯแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฎฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้รายงานว่าในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อปลายเดือน ก.ย.62 ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้หยิบยกประเด็นเรื่อง GSP ขึ้นหารือด้วยว่าจะมีการทบทวนการให้สิทธิดังกล่าวแก่ประเทศไทย ในเงื่อนไข 2 เรื่อง คือ การนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ และมาตรฐานแรงงาน ซึ่งในกรณีของการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ นั้น ที่ประชุมครม.ขอให้นายจุรินทร์ ไปพิจารณาความเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยังได้รายงานว่าในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมที่จะเจรจาหารือกับตัวแทนของสหรัฐ เพื่อขอคืนสิทธิ GSP ให้แก่สินค้าไทย แต่อย่างไรก็ดี ได้มีแผนรองรับไว้แล้วหากไม่สามารถเจรจาคืนสิทธิ GSP ได้ เช่น การหาตลาดส่งออกอื่นเพื่อมารองรับ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิต รวมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบต่อไป ขณะที่ประเด็นด้านแรงงานนั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน รายงานว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยแก้ไขใน 7 ประเด็น ซึ่งปัจจุบันไทยได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 4 ประเด็น ยังเหลืออีก 3 ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นหลัก "3 ประเด็นด้านแรงงาน ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คือ กรณีการให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้, การให้ลูกจ้างเหมาสามารถตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้เช่นกัน และการให้สิทธิคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการที่จะไม่ถูกฟ้องกลับจากนายจ้าง ซึ่งเหล่านี้มีผลกระทบ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียก่อน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ได้ผ่านสภาฯ วาระแรกไปแล้ว" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ