(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค. ขยายตัว 0.11% CORE CPI ขยายตัว 0.44% มองแนวโน้ม Q4/62 เพิ่มขึ้น ทั้งปีคาด 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2019 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. อยู่ที่ 102.74 ขยายตัว 0.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.16% จากเดือนก.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.74%

โดย CPI เดือน ต.ค.ชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน จากผลราคาน้ำมันเป็นหลัก

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนต.ค. อยู่ที่ 102.74 ขยายตัว 0.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04% จากเดือนก.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 10 เดือนของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 0.53%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.91 ขยายตัว 2.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.10% จากเดือน ก.ย.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.53 หดตัว -1.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -0.18% จากเดือนก.ย.62

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.62 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.11% เป็นการสูงขึ้นในลักษณะชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.60 โดยปัจจัยสำคัญของการชะลอตัวมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงถึง 11.57% ถือเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ต่ำสุดในรอบ 43 เดือน

"เงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ แม้จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.11% แต่ยังถือว่าชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

โดยในเดือนต.ค.นี้ มีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 140 รายการ เช่น ผักคะน้า ต้นหอม แตงกวา ผักชี เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงจากเดือนก่อนหน้า มี 98 รายการ เช่น ราคาน้ำมัน เนื้อสุกร ผลไม้สด เป็นต้น

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ การส่งออก และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหรรมที่กลับมาหดตัว และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ เช่น ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีสัญญาณบวกจากการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการประกันรายได้สินค้าเกษตร และมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ "ชิมช้อปใช้" โดย สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบ 0.7-1.0%

"เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.75% ลดลงจาก 0.85% ที่ได้เคยประเมินไว้เมื่อครั้งก่อน ซึ่งก็ยังไม่ถึงกับกรอบล่างที่ ธปท.และกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่ 1-4% เป็นเพราะฐานราคาน้ำมันในปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปีนี้ลงมาเหลืออยู่ประมาณ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล จึงทำให้ฐานในปีก่อนสูง และคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ถึงสิ้นปี" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมมองว่า อัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันถือว่ายังใช้ได้เมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ประกอบกับการที่รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี จึงเชื่อว่าจะช่วยทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้นพอสมควร

"การที่รัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งในส่วนของภาคประชาชน คือ ชิมช็อปใช้ และภาคเกษตร ในเรื่องประกันรายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายเริ่ม flow จากทั้งภาคเกษตรกร และประชาชนทั่วไป จะเห็นได้จากกยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น...ส่วนจะช่วยดัน GDP ในปีนี้ได้มากน้อยเพียงใดนั้น กระทรวงการคลังคงจะประเมินอยู่ แต่เรามองว่า รัฐบาลมาถูกทางแล้วในการกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ