"พล.อ.ประยุทธ์"ปิดการประชุมอาเซียนซัมมิท'35 ส่งต่อตำแหน่งปธ.ให้เวียดนาม พร้อมประกาศความสำเร็จเจรจา RCEP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2019 20:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จในการผลักดันการเจรจาในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ กับประเทศนอกภูมิภาค โดยเฉพาะ RCEP และสานต่อการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ในปีหน้า

นอกจากนั้น ยังได้ส่งต่อตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ค.ศ.2020 ให้กับนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม

พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นว่า เวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างความยั่งยืนในอาเซียนต่อจากนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมี 3Cs ได้แก่ 1) Continuity 2) Complementarity และ 3) Creativity

ทั้งนี้ เป้าหมายในหลาย ๆ ด้านไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในปีเดียว จึงต้องมี C ตัวแรก คือ Continuity กับข้อริเริ่มที่สำคัญจากปีก่อน ๆ เพื่อให้สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยอาศัย C ตัวที่สอง คือ Complementarity ความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มที่เกื้อกูลกันในอาเซียน สุดท้ายต้องใช้ C ตัวที่สาม คือ Creativity ในการแก้ปัญหาที่คั่งค้างและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอย่างสร้างสรรค์ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีอวยพรให้เวียดนามและอาเซียนประสบความสำเร็จต่อไปในปีหน้า

สำหรับสาระสำคัญในพิธีปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือของอาเซียนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4 ประการ

ประการที่หนึ่ง ประชาชนจะมีความมั่นคงที่ยั่งยืนมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง อาเซียนได้วางรากฐานความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้นำหลักการภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) มาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และจัดตั้งกลไกแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับผู้พลัดถิ่น

ประการที่สอง ความร่วมมือของอาเซียนในปีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเกี่ยวกับอาร์เซ็ป เป็นการผลึกกำลังของกลุ่มประเทศซึ่งมี GDP รวมกัน 32% ของโลก มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 30% ของการค้าโลก โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเชื่อมโยง ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศในปีนี้ การริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน จะทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันยุทธศาสตร์เชื่อมโยงความเชื่อมโยง ซึ่งอาเซียนได้ประกาศโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน 19 โครงการ ที่ธนาคารโลกได้พิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความสนใจร่วมลงทุน

ประการที่สาม อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การต่อต้านขยะทะเล, การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน, การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการสนับสนุนให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในปี พ.ศ. 2577 ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอาเซียนมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอาเซียนร่วมกัน

ประการที่สี่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนสำหรับเป็นแนวทางการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ

หลังจากนั่น พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงผลการประชุมอีกครั้งว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" โดยเน้นเรื่อง partnership หรือความเป็นหุ้นส่วน เพื่อสานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเชียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือน มิ.ย.ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ผู้นำจาก 18 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยเลขาธิการสหประชาชาติ และกรรมการจัดการกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (IMF) ได้มาร่วมประชุม ซึ่งตนเองได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับผู้นำทั้ง 9 การประชุม ทั้งการประชุมระหว่างอาเซียนกันเอง และกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย และสหประชาชาติ รวมทั้งมีการประชุมในกรอบอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมสุดยอด RCEP

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่ไทยได้จัดขึ้น คือ งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมยินดีต่อข้อเสนอไทยที่จะจัดการประชุมระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกเพื่อสร้างหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 63

การประชุมทั้งหมดนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี แสดงให้เห็นถึงบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคและการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่าง ๆ ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และความตึงเครียดทางการค้า โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สานต่อข้อริเริ่มของอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มความร่วมมือดันเมืองอัจฉริยะกับจีน และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น จีน และประเทศอาเซียนบวกสาม ภายใต้แนวทางการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงของอาเซียนที่ไทยได้ริเริ่ม ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ และการสนับสนุนในเชิงวิชาการจากธนาคารโลกอีกด้วย

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้ต่อยอดการส่งเสริมความมั่นคงที่ยังยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับการสานต่อมุมมองของอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกผ่านกิจกรรมและโครงการความร่วมมือในลักษณะ win-win บนพื้นฐานของหลักการ 3 M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

เราได้หารือกันในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค และเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาพลวัตในการหารือเพื่อแก้ไขความท้าทายต่าง ๆ โดยสันติวิธี ในการประชุมครั้งนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติผ่าน การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนและการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อส่งเสริมพื้นที่ไซเบอร์ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ

เราเห็นว่า ความมั่นคงที่ยั่งยืนจะเกื้อกูลควรพัฒนาศรษฐกิจที่มีพลวัต อาเซียนจึงมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ในการนี้ การสรุปผลการเจรจา RCEP ตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ รวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อให้เราได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยง ASEAN Single Window ครบทั้ง 10 ประเทศ การสรุปการเจรจาข้อตกลงยอมร้บร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน ตลอดจนการริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU

ผู้นำอาเซียนได้หารือเพื่อร่วมมือกับภาคีภายนอกในการต่อยอดการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน การส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ และการศึกษาของเด็ก นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ลงนาม MOU กับฟีฟาเพื่อพัฒนากีฬาฟุตบอลในอาเซียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเสนอตัวของประเทสมาชิกอาเซียนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก (ฟีฟ่าเวิลด์คัพ) ในปี 77 ด้วย

ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน โดยภาคีภายนอกได้แสดงความพร้อมที่จะช่วยอาเซียนเสริมสร้างความยั่งยืนผ่านแผนงานการส่งเสริมข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ (Complementarities Roadmap) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนสหประชาชาติ รวมทั้งผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกได้ออกแถงการณ์พื่อยืนยันความเป็นหุ้นส่วนพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการเปิดตัวศูนย์อาซียนในประทศไทยอีก 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษา และการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม และศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสูงเคราะห์และสวัสดิการสังคุม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไทยมอบให้กับอาเซียนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยจะรองรับประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม การรองรับการเข้าสังคมสูงวัย และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนได้มีข้อตัดสินใจร่วมกันให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ที่เมืองดานัง เวียดนามในปี 63 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ