ผู้นำ RCEP แถลงการณ์ร่วมปิดเจรจาข้อตกลงก่อนลงนามในปี 63 แม้ยังต้องเดินหน้าหาข้อยุติประเด็นคงค้างกับอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2019 21:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.62 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุม RCEP ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิก RCEP อีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำ RCEP ตั้งไว้

ในการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า "สมาชิก RCEP 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลง RCEP ในปี 63 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิก RCEP จะทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป"

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรี RCEP ในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี ซึ่งหากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวเสริมว่า ความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อปี 58 พบว่า ผลของการเจรจา RCEP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยผลผลิตมวลรวมของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 3.995% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

โดยในปี 61 ไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำ FTA ระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิก RCEP ในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิก RCEP เปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น

นอกจากนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP กว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 58.8% ของการส่งออกของไทยไปโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ