(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ลงทุน 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวต่อเนื่องเดือนที่ 3 กังวลสงครามการค้ากดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 6, 2019 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด และคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neural) ช่วงค่าดัชนี 80- 119 โดยลดลง 22.56% มาอยู่ที่ระดับ 86.44

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ขณะที่ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

"ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวจากเกณฑ์ร้อนแรงในเดือนก่อน กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงแต่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม"นายไพบูลย์ กล่าว

ในช่วงเดือน ต.ค.62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวเคลื่อนไหวทรงตัวในทิศทางลดลงอยู่ในช่วง 1600-1630 จุด ขณะที่ดัชนีปรับตัวลดลงในช่วงปลายเดือน จากปัจจัยความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังไม่ชัดเจน ความเสี่ยงด้านการส่งออก และกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ทำให้ดัชนีฯปรับตัวลดลงมาอยู่ในช่วง 1590-1600 จุดในช่วงปลายเดือน

ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 0.25% รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าออกของเงินทุน ขณะที่นักลงทุนเฝ้าติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีความผ่อนคลายมากขึ้น และสหรัฐระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน ยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงถดถอย ทิศทางนโยบายการการเงินของสหรัฐและยูโร ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แนวโน้มการพิจารณา BREXIT ที่คาดว่าขยายระยะเวลาออกไปม.ค.ปีหน้า ทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และนโยบายด้านการคลังของจีนเพื่อผ่อนคลายภาวะเศรษฐกิจจากสงครามทางการค้า

ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และทิศทางมาตรการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบจากการประกาศยกเลิกสิทธิ GSP บางส่วนของสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน พ.ย.62 ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับลดลงจากระดับ 1.50% ในการประชุม กนง. รอบเดือน พ.ย.นี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้ามีแนวโน้มลดลงจากระดับ 1.41% ณ วันที่สำรวจ (21 ต.ค. 62) เนื่องจากคาดการณ์ว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลงและ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้า น่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับระดับ 1.56% ณ วันที่สำรวจ (21 ต.ค. 62) เป็นผลมาจากอุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ทรงตัว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน พ.ย.62 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือน พ.ย.นี้ อยู่ที่ระดับ 29 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว มาอยู่ในเกณฑ์ "ลดลง (Decreased)" สะท้อนมุมมองของตลาดว่าการประชุม กนง. ในรอบเดือน พ.ย.นี้อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยมีปัจจัยจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. เดือน ธ.ค.62 (ประมาณ 8 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 27 และ 33 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว โดยดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีคงอยู่ในเกณฑ์ "ลดลง (Decrease)" จาก 1.41% ณ วันที่ทำการสำรวจ (21 ต.ค. 62) และดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" จาก 1.56% โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัว แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ