ชำแหละวิกฤต"หนี้"คนไทยสูงติดอันดับโลก Social Media ต้นตอหนี้"คนรุ่นใหม่"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 11, 2019 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"หนี้ครัวเรือน"เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโตค่อนข้างจำกัด จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท สูงเกือบ 80% ต่อจีดีพี และสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก สะท้อนความสามารถจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และยังถูกซ้ำเติมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุก ๆ วัน

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด คลื่นลูกใหม่อีกคนในแวดวงการสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ถึงมุมมองสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลย้อนหลังในปี ค.ศ. 2005 ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยเคยอยู่ที่ 40% ต่อจีดีพี แต่ล่าสุดพุ่งขึ้นมาเป็น 80% สิ่งที่ทำให้หนี้คนไทยเพิ่มขึ้นมาตลอดหนึ่งในปัญหาคือรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นช้ากว่าหนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปยอมรับว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ประกอบกับ ประเทศไทยยังติดอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ หมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย สวนทางกับตัวเลขการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นสูง

ต้นตอการก่อหนี้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หลายปัจจัยเข้ามากระตุ้นให้หนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนึ่งในสาเหตุของการเกิดหนี้ คือการเสพติดสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ส่วนมากใช้งาน Social Media ซึ่งตามข้อมูลพบว่าคนไทยใช้ Facebook เป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้เห็นโฆษณาหลายครั้งและเป็นจำนวนมาก เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยาก หลังจากนั้นไปซื้อสินค้าและโพสต์ลงใน Social Media เมื่อคนอื่นเห็นก็เกิดความอยากมีบ้าง พฤติกรรมการบริโภคสินค้าดังกล่าว เป็นลักษณะนิยมตามกระแสแฟชั่นมากกว่าความจำเป็น

นอกจากนั้น ยังมีกระแสความนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce สามารถสั่งซื้อสินค้าได้รวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค มีจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคอย่างมาก ในกรณีสินค้าที่มีราคาสูงเกินกว่าความสามารถที่จ่ายได้ ก็มีบริการกู้เงินได้เช่นกัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ของคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น

"แรงกดดันจาก Social Media และพฤติกรรมซื้อผ่าน E-commerce ที่มีการตลาดโฆษณาเป็นจำนวนมาก กระตุ้นความอยากของคนโดยธรรมชาติ สะท้อนว่าพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไม่ทันธุรกิจ ธุรกิจปรับตัวเร็วกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้คนไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกเสนอขายของอยู่และซื้อของได้ง่าย แต่ในมุมของธุรกิจก็ไม่ได้ผิด แต่ต้นตอของปัญหาคือพฤติกรรมของคนกำลังลืมตัวมากกว่า เพราะความอยากได้ แต่ไม่มีเงิน ก็เลยต้องใช้วิธีกู้"

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขของคนไทยที่เป็นหนี้นอกระบบออกมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่จากการที่ทีมงานของบริษัท เงินติดล้อ ทำการสำรวจพบว่าคนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี 1 ใน 11 คนเป็นหนี้นอกระบบ ขั้นตอนแก้ไขปัญหาคืออาจต้องมีที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญด้านบริหารการเงินว่าต้องปิดหนี้จุดใดก่อน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบบานปลายไปมากกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีหลายๆโครงการเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศ

"อยากให้คนไทยมีสติคำนึงถึงความน่ากลัวของหนี้นอกระบบ ในกรณีคนที่มีอาชีพค้าขาย วิธีการทวงหนี้อาจมีขู่ไปพังร้านบ้าง ขั้นตอนการทวงหนี้ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ติดตามทวงถามหนี้ ไม่มีใครมานั่งเบรกว่าห้ามติดต่อลูกค้าเกินหนึ่งราย เป็นต้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าความแตกต่างตอนทวงหนี้ของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตกับเจ้าหนี้นอกระบบมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในจังหวะที่คนอยากได้เงิน มักจะไม่ค่อยนึกถึงในประเด็นนี้ จึงอยากเตือนให้คิดก่อนที่จะเข้าไปใช้บริการของหนี้นอกระบบ"

นายปิยะศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้คนไทยรู้สึกตัวและมีสติก่อนใช้เงินว่าสิ่งที่กำลังใช้จ่ายไปนั้น มีความจำเป็นมากน้อยอย่างไรในชีวิตประจำวัน และใช้จ่ายไปแล้วได้ประโยชน์การดำเนินชีวิตในระยะยาวหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นกันในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องมีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดที่มีราคาแพง ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจไม่ได้จำเป็น การเลือกซื้อควรเหมาะสมกับกำลังซื้อของแต่ละบุคคล เป็นสิ่งช่วยให้ลดปัญหาของการเป็นหนี้ระยะยาว

"ตัวอย่างการซื้อโทรศัพท์มือถือน่าจะชัดเจนที่สุด เพราะได้รับความนิยม การที่เราซื้อผ่อน 10-12 เดือนในราคาหลายหมื่นบาท พอมีรุ่นใหม่เข้ามาก็เป็นหนี้รอบใหม่ พฤติกรรมการใช้จ่ายเช่นนี้เมื่อรวมๆ กันหลายรายการ ทำให้เกิดการสะสมเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เราคงเคยได้ยินแฮชแท็กคำว่า "ของมันต้องมี" แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เป็นสิ่งที่เตือนให้คนคิดก่อนตัดสินใจใช้จ่าย มองถึงผลกระทบในระยะยาวหน่อย"

เงินติดล้อ ได้ออกแคมเปญชุด "หนี้หรือความสุข" เพราะเล็งเห็นการก่อให้เกิดหนี้และนำเงินในอนาคตมาใช้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออมและนำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว สื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเกินตัวเพียงเพื่อความสุขชั่ววูบจากการทำตามกระแสสังคม ผ่าน หนังสือ "25 วิธีคิดทำให้ชีวิตชิบหาย (25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย)"นำเสนอ 25 ทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบเหรียญสองด้าน ทั้งด้านที่มุ่งตอบสนองเชิงอารมณ์ ความอยากได้อยากมีเฉพาะหน้า (นำไปสู่ความฉิบหาย) และด้านที่ใช้เหตุผลเน้นการวางแผนสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมากระชับเข้าใจง่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หนึ่งในหน่วยงานที่สำรวจการเป็นหนี้ของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล และต้องการการร่วมดูแลแก้ไขจากหลายฝ่าย โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 78.7% ในไตรมาส 2/62 เท่ากับไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมา

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าหากเปรียบเทียบการเติบโตของหนี้ครัวเรือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่าหนี้ครัวเรือนมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา (ในช่วงระหว่างไตรมาส 3/2561 ถึงไตรมาสที่ 2/2562) โดยหนี้ครัวเรือนเติบโตที่ระดับประมาณ 6.0% โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส ขณะที่ Nominal GDP ของไทย มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อไตรมาสที่ประมาณ 4.5%

"สภาวะหนี้ที่เติบโตเร็วกกว่าการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ประเด็นสำคัญของหนี้ครัวเรือนในเวลานี้ ก็คือความสามารถในการชำระคืนหนี้ ในยามที่ระดับรายได้ของครัวเรือนและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงชะลอตัว แม้ว่าที่ผ่านมา ภาระดอกเบี้ยจ่ายของสินเชื่อบางส่วน ได้ปรับตัวลงมาตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงินแล้วก็ตาม" บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 62 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับทบทวนกรอบประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 62 ขึ้นมาที่ 78.5-79.5% (จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี) เนื่องจากข้อจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี

อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยประกาศใช้ และเตรียมที่จะดำเนินการเพิ่มเติม น่าจะมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงเชิงระบบของระบบการเงินไทย ขณะที่การวางแนวทางให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อรายย่อย โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ และสถานะทางการเงินหลังผ่อนชำระหนี้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวด้วยอีกทางหนึ่ง

https://youtu.be/umoBQnTe1Cs


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ