พาณิชย์ เผยภาพรวมใช้สิทธิ FTA 8 เดือนปีนี้ลดลงตามการส่งออก-บาทแข็ง เตรียมแผนผลักดันต่อเนื่องในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 14, 2019 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 45,175.32 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 78.94% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่าทั้งหมด 57,230.54 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลง 2.20% หลังการส่งออกไปบางตลาดลดลงสะสมจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าชะลอตัว และเงินบาทที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาเซียน มูลค่า 16,579.17 ล้านดอลลาร์ (2) จีน มูลค่า 12,574.86 ล้านดอลลาร์ (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 5,391.06 ล้านดอลลาร์ (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 5,102.13 ล้านดอลลาร์ และ (5) อินเดีย มูลค่า 3,019.03 ล้านดอลลาร์ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิดังกล่าวพบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดคือ เปรู มีอัตราการขยายตัว 22.42% รองลงมาคือ นิวซีแลนด์มีอัตราการขยายตัว 7.88% และจีนมีอัตราการขยายตัว 5.78%

ขณะที่กรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ไทย-ชิลี (97.69%) (2) อาเซียน-จีน (97.40%) (3) ไทย-เปรู (92.37%) (4) ไทย-ญี่ปุ่น (89.98%) และ (5) อาเซียน-เกาหลี (84.11%) โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย

ส่วนตลาดที่มีการใช้สิทธิ FTA ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ (1) ตลาดอาเซียน ลดลง 7.14% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ เป็นต้น (2) ตลาดออสเตรเลีย ลดลง 13.89% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น (3) ตลาดชิลี ลดลง 31.05% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถบรรทุก (ดีเซล หรือกึ่งดีเซล) ปลาทูน่า เครื่องซักผ้า เป็นต้น และ (4) ตลาดเกาหลี ลดลง 2.75% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เศษอะลูมิเนียม แผ่นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด และยางธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการใช้สิทธิ FTA ในภาพรวมจะลดลง แต่ยังมีตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกและมีการใช้สิทธิขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง เช่น เปรู นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

นายกีรติ กล่าวว่า ในปี 2563 กรมฯ มีแผนส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแต้มต่อและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยกรมฯ มีกำหนดจัดสัมมนาให้ความรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีการออกหนังสือรับรอง เช่น หนองคาย เชียงราย สงขลา เป็นต้น ซึ่งจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจสำหรับผู้ประกอบการในเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งแต่เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง FTA การตรวจรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของกรมฯ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีแผนจะบูรณาการร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยจัดกิจกรรมคลินิกเคลื่อนที่ไปให้คำปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ