(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.หดตัว -4.5% นำเข้าหดตัว -7.57% เกินดุลฯ 506.5 ล้านดอลล์ คาดทั้งปีติดลบไม่ถึง 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 21, 2019 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ต.ค. 62 โดยการส่งออกมีมูลค่า 20,757.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.54% เมื่อเทียบกับ ต.ค.61 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -7.57% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 506.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับในช่วง 10 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 207,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.35% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 199,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.09% ยังเกินดุลการค้า 7,887.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค.ลดลงมาก สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบเกือบ 25% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลงถึง 35.40% และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลดลง 25.8%

ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มชะลอลงแล้ว เห็นได้จากการส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ที่ 2.74% เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้าที่เริ่มขยายตัวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าหลายรายการมีสัญญาณการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น น้ำตาลทราย, ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ, เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว, แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เฟอร์นิจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังส่งออกลดลงต่อเนื่อง เช่น ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา, กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป, สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ส่วนตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังหดตัว ทั้งสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลดลง 8.8% อาเซียน (9 ประเทศ) ลดลง 9.3% จีน ลดลง 4.2% อินเดีย ลดลง 17.2% ฮ่องกง ลดลง 3.4% เกาหลีใต้ ลดลง 1.15% ทวีปออสเตรเลีย ลดลง 7.1% ลาตินอเมริกา ลดลง 13.2% รัสเซียและซีไอเอส ลดลง 10.8% ยกเว้นตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.8% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 0.5% และ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 97%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า ในเดือน ต.ค.62 ถือว่าไทยยังคงรักษาระดับมูลค่าการส่งออกที่กว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐไว้ได้ ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ ส่วนในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ คือ เดือน พ.ย.62 น่าจะยังติดลบอยู่ แต่เชื่อว่าจะเป็นบวกในเดือน ธ.ค.62 เพราะฐานในปีก่อนต่ำมากมีมูลค่าเพียง 19,400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จึงคาดว่าเดือน ธ.ค.ของปีนี้มูลค่าส่งออกน่าจะทำได้มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนปี 63 การส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกแน่นอน แต่แนวโน้มการส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทยในระยะสั้น-กลาง

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่

นอกจากนี้ ในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า การรักษาฐานลูกค้าเดิมยังเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

"มูลค่าส่งออกไทยปีนี้น่าจะติดลบ 1.55% ถึงลบ 1.60% ไม่ถึงลบ 2% แน่นอน เพราะผลกระทบสงครามการค้าเริ่มลดลง และไทยหาตลาดส่งออกใหม่ๆ และส่งออกสินค้าหลากหลายมากขึ้น รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ มีแผนเจาะตลาดเป้าหมายที่ลงลึกเป็นรายมณฑล รายรัฐ และเมืองรองมากขึ้น ส่วนปี 63 มูลค่าส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้แน่นอน โดยส่วนตัวมองว่า น่าจะบวกได้ใกล้เคียง 2% แต่ต้องรอเป้าหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ