พาณิชย์ เผยภาพรวมการใช้สิทธิ FTA ช่วง 9 เดือนปีนี้ มูลค่าลดลง 3.41% เร่งเดินหน้าส่งเสริมการใช้สิทธิไป CLMV

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 26, 2019 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 50,312.06 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 78.25% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 64,296.03 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.41% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็น (1) อาเซียน มูลค่า 18,680.23 ล้านดอลลาร์ (2) จีน มูลค่า 13,757.61 ล้านดอลลาร์ (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 6,030.61 ล้านดอลลาร์ (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 5,724.62 ล้านดอลลาร์ และ (5) อินเดีย มูลค่า 3,345.33 ล้านดอลลาร์ เหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ นั้น เปรูมีอัตราการขยายตัวสูงสุดอยู่ที่ 24.65% รองลงมาคือ นิวซีแลนด์ มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.96% และ จีนมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.33%

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ไทย-ชิลี (100%) (2) อาเซียน-จีน (94.48%) (3) ไทย-เปรู (93.11%) (4) ไทย-ญี่ปุ่น (89.94%) และ (5) อาเซียน-เกาหลี (84.07%) โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย

ถึงแม้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ยังมีตลาดศักยภาพในการส่งออกที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) เปรู ขยายตัวที่ 24.65% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม รถจักรยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 250-500 ลบ.ซม. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว เป็นต้น (2) นิวซีแลนด์ ขยายตัวที่ 4.96% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น เครื่องประดับที่ทำจากเงิน สิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบอื่นๆ แผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติก เป็นต้น (3) จีน ขยายตัวที่ 4.33% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น (4) ญี่ปุ่น ขยายตัวที่ 2.37% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ปลาแมคเคอเรล ไก่ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น และ (5) อินเดีย ขยายตัวที่ 0.48% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น เครื่องฉายและมอนิเตอร์ ลวดทองแดงเจือ น้ำมันดิบ เป็นต้น สำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิ FTA ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลี

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ตลาดอาเซียนยังถือเป็นตลาดสำคัญของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในการส่งออก แม้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังมีบางตลาดที่มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดศักยภาพ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.62) ไทยมีอัตราการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA ไปสามประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดย (1) กัมพูชา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 876.32 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 27.40% (2) สปป. ลาว มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 329.44 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 3.47% และ (3) เวียดนาม มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 5,707.02 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 0.11% ภายใต้โอกาสทางการค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังเดินหน้าให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจัดสัมมนาในพื้นที่จังหวัดหนองคายเพื่อส่งเสริมการค้าและการใช้สิทธิประโยชน์ฯ กับประเทศเพื่อนบ้าน ในหัวข้อเรื่อง "ครบเครื่อง...เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า" ในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมอัศวรรณ จังหวัดหนองคาย โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั้งแบบกระดาษและระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Form D และ Form E ซึ่งเป็นเอกสารที่นำไปประกอบการขอลดหย่อนภาษี ณ ประเทศปลายทางอย่าง อาเซียน และจีน ได้ ซึ่งการจัดสัมมนาที่จะเกิดขึ้นนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้ส่งออกที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการและขยายโอกาสทางการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ