KBANK คาดศก.ไทยปี 63 โต 2.7% ส่งออกยังติดลบจากสงครามการค้ายืดเยื้อ มองบาทแตะระดับ 29

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2019 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในงานสัมมนา "ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีชวด"ว่า ธนาคารกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในปีหน้าจะติดลบ -2% มากกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ -1% เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ขณะที่การย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจากประเทศจีนมาไทย ที่คาดจะช่วยสนับสนุนการส่งออกนั้น มองว่ายังส่งผลไม่ได้เต็มที่ เห็นได้จากมาร์เก็ตแชร์การส่งออกของไทยจากปี 61 อยู่ที่ 1.46% ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ที่อยู่ที่ 1.38%

ทั้งนี้ ในภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ในภูมิภาค แต่หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง มองว่าประเทศจีนก็อาจจะมีมาตการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศออกมา เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยเคยทำในเรื่องของไทยเที่ยวไทย

นายกอบสิทธิ์ ยังมองค่าเงินบาทในปี 63 ว่าจะปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น จากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบาง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกน่าจะเป็นช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 และครั้งที่สองน่าจะเป็นเดือนก.ย.63 ซึ่งคาดว่าจะปรับลงครั้งละ 0.25% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คาดว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.25%

อย่างไรก็ตาม มองกรอบค่าเงินบาทในปี 63 ว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.70 - 29.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงครึ่งปีแรก และ 29.20-29.25 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปี 63 จากสิ้นปี 62 จะอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์

"ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 63 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เติบโตต่ำ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างสงครามการค้า ยังไม่ถูกแก้ไข ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้า คาดว่าจะยังเกินดุลในระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไปในระยะยาว" นายกอบสิทธิ์ระบุ

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาลที่ออกมาในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา นายกอบสิทธิ์ มองว่าเป็นมาตรการเชิงรับมากกว่า เพราะหลังจากผ่านช่วงนั้นไปแล้วก็อาจจะไม่ได้เห็นผลต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ก็ถือเป็นมาตรการเยียวยาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มองว่าการใช้นโยบายการคลังของประเทศไทยที่มากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีมากนัก เนื่องจากไทยกำลังลุ้นการปรับอันดับเรทติ้งของประเทศ โดยถ้าใช้นโยบายการคลังอย่างหนักหน่วง อาจไม่ได้รับการปรับเพิ่มเรทติ้งจาก Moody’s จากการถูกมองว่าฐานะการคลังของไทยไม่แข็งแกร่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ