(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ย.62 ขยายตัว 0.21% จากตลาดคาด 0.3%, CORE CPI ขยายตัว 0.47%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 2, 2019 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ย.62 อยู่ที่ 104.54 ขยายตัว 0.21% จากตลาดคาด 0.3% แต่หดตัว -0.13% จากเดือน ต.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 11 เดือนปี 62 (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.69%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) พ.ย.62 อยู่ที่ 102.77 ขยายตัว 0.47% จากช่วงเดียวของปีก่อน และขยายตัว 0.03% จากเดือน ต.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 11 เดือนปี 62 ขยายตัวเฉลี่ย 0.53%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.54 ขยายตัว 1.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.35% จากเดือน ต.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.54 หดตัว -0.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.01% จากเดือน ต.ค.62

สนค.ระบุว่า ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย.62 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.21% ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดพลังงาน ที่หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดอื่นๆ ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมแล้วชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือ นพ.ย.62 เงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.51% จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8.92% โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.73% ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์ม เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยลดการเลี้ยงและมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นกุ้งขาว ราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการโลกที่ลดลง ส่วนปลาน้ำจืด (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล) ปริมาณลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.83% ตามการลดลงของปริมาณไก่ไข่

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้) สูงขึ้น 2.05% จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้น 0.70% และ 0.28% ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้น 3.16% ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลง 5.43% ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลง 0.23%

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.53% ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 1.97% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 7.54% ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ (รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ค่าเครื่องบิน) สูงขึ้น 6.17% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลง 0.10% ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้น 0.29% หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน หลอดไฟฟ้า) สูงขึ้น 0.30% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่ายา ค่าตรวจรักษา ค่าของใช้ส่วนบุคคล) สูงขึ้น 0.32% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าทัศนาจรในและต่างประเทศ) สูงขึ้น 0.76%

สนค.ระบุอีกว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปทานและอุปสงค์ โดยตัวชี้วัดด้านอุปสงค์ ภาคการลงทุนกับภาคการบริโภคยังมีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยตัวแปรภาคการลงทุนยังลดลง ขณะที่ตัวแปรด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัวยังขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้งมาตรการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากหญ้า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและสามารถดำเนินการได้เต็มที่น่าจะช่วยให้ปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.น่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1.0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ