ม.หอการค้าไทย คาด GDP ปี 63 โต 2.7-3.1% จากเดิมคาดโต 3-3.5% เหตุศก.โลกยังมีความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 6, 2019 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะขยายตัวได้ 2.7-3.1% โดยปรับลดลงจากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดไว้ที่ 3.0-3.5% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงมีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดียังถือว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังสามารถฟื้นตัวได้ในระดับอ่อนๆ จากปีนี้ ส่วนการส่งออกของไทยในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 1.8% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว -2.4%

"ถ้าสงครามการค้าและ Brexit ไม่มีปัญหาเชิงลบต่อเนื่อง จะทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกถูกกระตุ้น นักวิเคราะห์ระดับโลกมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งหลังของปีหน้า ดังนั้น ม.หอการค้าไทย จึงเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในปลายไตรมาสแรกปีหน้า...การมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้หวือหวา เรายังไม่มีข้อมูลยืนยันขนาดนั้น จึงทำให้กรอบการมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่ 2.7-3.1% มีความเป็นไปได้สูง แต่การที่จะโตเกินจากนี้ไปถึง 3.5 หรือ 3.6% เรามองเห็นข้อมูลไม่ชัด" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในปีหน้ามาจาก 1.เม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งการเร่งเบิกจ่ายเงินของรัฐบาลทั้งรายจ่ายประจำ และงบลงทุน จะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนไปได้ 2.ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามราคาตลาดโลก ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง 3.เงินบาทที่คาดว่าจะไม่แข็งค่ามากเหมือนเช่นในปีนี้

"ธปท.เริ่มมีมาตรการออกมาเพื่อทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป และแนวโน้มที่บาทจะแข็งค่าไปตลอด คงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว อาจมีอ่อนค่าบ้าง น่าจะได้เห็นเงินบาทที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ เสียงจากภาคเอกชนที่มองว่าบาทแข็งเกินไปแล้ว และทางการได้เริ่มมีผลตอบสนองออกมา น่าจะทำให้นานาชาติเริ่มรับรู้ว่าทางการไทยไม่อยากเห็นเงินบาทที่แข็งเกินไป และคงจะทำให้นักเก็งกำไรเริ่มถอยออกไป" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับกรณีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น นายธนวรรธน์แสดงความเห็นจากมุมมองของนักวิชาการ โดยมองว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นในระดับที่ไม่เกินตัวเลข 2 หลัก หรือที่ประมาณ 6-9 บาท/วัน น่าจะเป็นระดับที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถยอมรับได้ เพราะหากปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่านี้ กล่าวคือ เกิน 10 บาท/วัน อาจจะเป็นภาระต้นทุนที่มากขึ้นของผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจยังซึมตัวอยู่ในปัจจุบัน

"มองว่าการปรับขึ้น 6-9 บาท เอกชนน่าจะพร้อมจ่ายได้มากกว่า และไม่เป็นภาระต่อเอกชนในช่วงที่เศรษฐกิจยังซึมตัว การปรับขึ้น 2-3% ที่ 6-9 บาท น่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า แต่สุดท้ายแล้วต้องขึ้นอยู่กับไตรภาคีที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ