(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน มอบนโยบายขรก.ขับเคลื่อน Energy For All เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ชูโรงไฟฟ้าชุมชน 1,000 MW ใน 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 9, 2019 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการเปิดสัมมนา"การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563" ว่า การสัมมนามีขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรับทราบทิศทางการขับเคลื่อนผ่านนโยบาย"Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน"ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและจะเป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันต่อไปในปี 63 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานราก

สำหรับการดำเนินการภายใต้นโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย การช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม ,ทุกพื้นที่ของประเทศที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายที่ถูกต้องจะต้องมีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายสายส่งที่เกิดไฟตกไฟดับ โดยกระทรวงอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนงานสนับสนุนนงบประมาณผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ทุกพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง

การเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในกลางเดือนธ.ค.นี้ รวมถึงการส่งเสริมการใช้ชีวมวลช่วยลดการเผาในพื้นที่โล่ง และยังทำให้มีการปล่อย PM2.5 น้อยลงอีกด้วย

การเกิดสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของจ.กาญจนบุรี เป็นแนวทางในการทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิล มาบริหารจัดการในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่ออาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุน

การใช้น้ำมัน B10 ทั่วประเทศเป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน และมี B20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดน้ำมันปาล์มมีความสมดุลมากขึ้น สร้างเสถียรภาพราคาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากราคาในตลาดโลก รวมทั้งในปี 63 ก็จะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มน้ำมันเบนซินต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ในกลุ่มเบนซินมีมากขึ้น

การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมภาพรวมให้เกิดการใช้ EV

"หัวใจของนโยบาย Energy For All คือการนำพลังงานเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากฐานราก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฐานรากได้ถูกขับเคลื่อนแล้ว ก็จะเป็นการยกฐานของประเทศขึ้นไปทั้งระบบ จะช่วยหนุนให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยจากภายนอกที่ผันผวนไม่แน่นอนมากระทบก็ตาม"นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กลไกแก้ไขเศรษฐกิจของภาครัฐทำได้ยากและมีข้อจำกัด กระทรวงพลังงานจึงต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ก็คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุน 7-8 หมื่นล้านบาทในปีหน้า การพิจารณานำไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ หรือสำรองไฟฟ้า ที่ประเทศมีถึงประมาณ 30% ก็จะนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสาธารณะต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายต้องการลดค่าตั๋วภาคประชาชนถูกลง และไฟฟ้าส่วนเกินนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และการค้าไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนการเชื่อมโยงไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Grid)

ส่วนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้านั้น ก็จะต้องหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ซึ่งเบื้องต้นจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแล โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน พร้อมสนับสนุนเรื่องของ สถานีชาร์จไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

ด้านการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (PDP2018) ไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้ค่าไฟฟ้าต้องไม่สูงกว่า 3.58 บาท/หน่วย แต่ต้องการเน้นความสามารถการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน ดังนั้น ก็ควรจะพิจารณาความเหมาะสมของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท อย่างกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต้องพิจารณาควบคู่กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมพลังงานชุมชน เพื่อให้ชุมชนนำพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยใช้กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเข้าไปส่งเสริม โดยตั้งเป้าหมายว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า ทุกพื้นที่ในไทยต้องมีไฟฟ้าใช้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีประมาณ 40 จังหวัด 662 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ในปี 63 จะผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อหาข้อตกลงพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความมั่นคงร่วมกันใน 20 ปีข้างหน้า รองรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะลดลง ส่วนแผนการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทั้งการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น ก็ต้องตอบโจทย์ด้วยว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ใดจากแผนเหล่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ