ครม.เห็นชอบเปิดตลาดโควตานมผงขาดมันเนยปี 62 เพิ่มเติมเกือบ 3 พันตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 11, 2019 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 62 เพิ่มเติม ปริมาณ 2,993.02 ตัน อัตราภาษี 5% ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.62 และยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พ.ย.48 เรื่อง การบริหารจัดการนมทั้งระบบ เนื่องจากเป็นการพิจารณาจัดสรรให้ผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

เนื่องจากโควตาเดิมจำนวน 58,312.74 ตัน ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจัดสรรจากความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรโควตาเพิ่มเติมต้องเป็นผู้นำเข้ารายเดิมและมีรายงานการนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 62 เกิน 70% ของโควตาที่ได้รับภายในวันที่ 30 ก.ย.62 ต่อมาคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.62 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ และให้กรมปศุสัตว์แจ้งปริมาณโควตาเพิ่มเติมที่ได้รับพิจารณาภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวไปยังองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้แจ้งปริมาณการขออนุมัติเปิดตลาดนำเข้าฯ เพิ่มเติม เหลือจำนวน 2,993.02 ตัน

การขออนุมัติให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 62 เพิ่มเติมในครั้งนี้จะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต [แบ่งเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) จำนวน 740 ตัน และกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) จำนวน 2,253.02 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดสรรโควตา เท่ากับ 24.72 : 75.28] จึงต้องขอยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) กับกลุ่มกับกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) ในอัตรา 80 : 20 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พ.ย.48

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว พณ. จะดำเนินการประกาศการจัดสรรที่จะออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาภายในวันที่ 31 ธ.ค.62 เพื่อทำให้การผลิตและการตลาดภาคธุรกิจของผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ