คลังเสนอ 19 มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจเข้า ครม. 4 มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 3, 2008 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง  กล่าวว่า กระทรวงการคลังจัดทำแพ็คเกจมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 มี.ค.นี้ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 19 มาตรการ โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551 เป็นต้นไป แต่บางมาตรการมีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้เพียง 3 ปี 
"ข้อเสนอแนะในแพ็คเกจลดภาษี ‘คืนเงินกลับกระเป๋า กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ครอบคลุมในเรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ตลอดจนการเพิ่มจำนวนรายการและยอดรวมของค่าใช้จ่ายที่หักลดหย่อนภาษีได้" นายประดิษฐ์ กล่าว
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า แพ็คเกจกระตุ้นทางการคลังดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.มาตรการการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2.มาตรการการลดภาษีแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 3.มาตรการการกระตุ้นการแข่งขันของภาคธุรกิจทั้งหมดและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
มาตรการสำหรับบุคคลทั่วไป จะเป็นการปรับเพิ่มเพดานรายได้ขั้นต่ำที่แต่ละคนต้องเริ่มจ่ายภาษี ซึ่งหมายถึง ลูกจ้างที่รับเงินเดือนซึ่งต้องชำระภาษีในปัจจุบันจะไม่ต้องเสียภาษีอีกต่อไป หรือเสียภาษีในจำนวนที่น้อยลง นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอให้เพิ่มจำนวนรายการและยอดรวมของค่าใช้จ่ายที่หักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนมาตรการสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน เช่น การปรับเพิ่มเพดานภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี และยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้น
และมาตรการสำหรับองค์กรธุรกิจ รวมทั้งภาคการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการ ‘คืนเงินกลับกระเป๋า กระตุ้นเศรษฐกิจ’ เช่นกัน โดยจะอนุมัติให้มีการลดภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายและการลงทุนในหลายเรื่อง ตลอดจนการเร่งระยะเวลาการคำนวนค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ ซึ่งการลงทุนทั้งสองตลาดต่างก็จะได้รับผลประโยชน์จากการลดภาษีธุรกิจดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมาตรการที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อบ้านและการลงทุนอีกด้วย
"มาตรการดังกล่าวจะช่วยทั้งกระตุ้นการบริโภค และสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ผ่านทางนโยบายทางภาษี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวะการชะงักงันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเรามีความจำเป็นที่จะเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งอย่างเร่งด่วน"นายประดิษฐ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ