(เพิ่มเติม) "สนธิรัตน์"ประกาศเป้าปี 63 เดินหน้าดันโรงไฟฟ้าชุมชน-เปิดสำรวจผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่-ชง 5 แผนพลังงานเข้ากพช.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้วางทิศทางการดำเนินการด้านพลังงานในปี 63 ใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจฐานราก/การช่วยค่าครองชีพประชาชน โดยจะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก ขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ สถานีพลังงานชุมชุน และที่เร่งด่วนคือ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ B10 ให้กว้างขวาง มีเป้าหมายการใช้ 57 ล้านลิตร/วันในปี 63 และบริหารน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในภาคพลังงานอย่างเป็นระบบ

ด้านความเข้มแข็งทางพลังงานจะทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ทั้ง 5 แผน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศพ.ศ.2561-2580 (PDP2018) , แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) , แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP) , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า

ตลอดจนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และค่าไฟฟ้ารถ EV และรถไฟฟ้าสาธารณะ

ด้านบทบาทนำในภูมิภาค โดยกำหนดกรอบเพื่อการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาส 3/63

"เรื่อง LNG เราจะช่วงชิงการเป็นผู้นำในภูมิภาค ถ้าในไตรมาส 3 ของปีหน้าเราดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ เราพร้อมจะเป็นผู้นำ LNG เรามีท่าเรือ แท้งก์เก็บ และมีความแข็งแกร่งของปตท. สามารถดำเนินการทำตลาด แล้วจะขาย ขายเมื่อไหร่ ขายอย่างไร ก็จะเริ่มในไตรมาส 3 ซึ่งก็จะทำให้เราเป็น LNG HUB เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นความคืบหน้า"นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 62 ที่กระทรวงดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ซึ่งช่วยสร้างสมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นในระยะยาว โดยช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า ปาล์มน้ำมันถูกยกระดับราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 6 บาท ,โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมายเพื่อประชาชนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ โดยมีกลไกของเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือหนึ่งมาร่วมพัฒนาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

"อาจมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนนั้น ขอเน้นย้ำว่ากลไกคัดเลือกต่าง ๆ ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่า ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่เกิดข้อครหาแต่อย่างใด...หัวใจหลักโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นการเน้นความเข้มแข็งของภาคชุมชน จะพิจารณาผลประโยชน์ชุมชนสูงสุด ทั้งในส่วนรายได้ขายพืชพลังงาน รายได้ขายเศษวัสดุภาคการเกษตร และรายได้จากการเกิดความต่อเนื่องจากการขายไฟฟ้าของชุมชน เป็นกรอบใหญ่ไม่ให้เอกชนมาครอบในการพิจารณาโรงไฟฟ้าชุมชน รวมถึงจะสร้างกลไกที่จะให้ชุมชนไม่ถูกเอาเปรียบ แต่เมื่อใดผิดจากเงื่อนไขก็จะมีมาตรการดำเนินการทันทีเพื่อไม่ให้ชุมชนเสียประโยชน์จากการเข้าร่วมในโครงการนี้"

สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1. โรงไฟฟ้าชุมชนที่ลงทุนระหว่างวิสาหกิจชุมชนกับเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ 2. โรงไฟฟ้าชุมชนประเทศ Off Grid ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้า หรืออยู่ปลายสายส่งไฟฟ้า ส่วนนี้จะให้นำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือเงินในโครงการตอบแทนคืนสู่สังคม (CSR) ไปสนับสนุน และ 3. สถานีชุมชน ซึ่งไม่เน้นการขายไฟฟ้า แต่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชนและนำไปต่อยอดไปใช้ในห้องเย็น ห้องแปรรูป โรงน้ำแข็ง ระบบเกษตรที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ด้านการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ที่ผ่านมาได้ช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่าเอฟที ช่วง 4 เดือนแรกของปีหน้า และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลิตรละ 1 บาทเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 62 - 10 ม.ค.63 เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางช่วงปีใหม่ ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่มอบให้ประชาชน

การสร้างบทบาทนำด้านพลังงานในเวทีนานาชาติ โดยปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียนสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงระบบฟ้าจากตะวันตกไปตะวันออก จากเหนือไปใต้เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ผ่านมาเพิ่มกรอบการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซียขึ้นอีกเป็น 300 เมกะวัตต์ การสร้างรายได้เข้าสู่ภาครัฐ โดยปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อกรณีข้อพิพาทค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทยกับกลุ่มเชฟรอนผู้ได้รับสัมปทานในปัจจุบัน หลังจากก่อนหน้านี้สามารถระงับการฟ้องร้องในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งคาดว่าภายในไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์และไม่เป็นปัญหากับประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ