พาณิชย์ เปิดหลักสูตรติวเข้ม Smart Logistics นำร่องพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ SEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2020 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ เปิดหลักสูตรติวเข้ม Smart Logistics นำร่องพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ SEC

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของรัฐบาล โดยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายจะช่วยสร้างความชัดเจนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ตรงจุดได้

ทั้งนี้ มีกำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "ยกระดับธุรกิจสู่ Smart Logistics" ภายใต้กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC และ SEC) ยุคดิจิทัล เริ่มอบรมนำร่องจำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2563 ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา และรุ่นที่ 2 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม CBD 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดอาวุธให้ธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีซึ่งประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดได้ และใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างชาญฉลาด ที่สำคัญสามารถแข่งขันกับธุรกิจโลจิสติกส์ต่างชาติได้

สำหรับกิจกรรมในหลักสูตร จะเน้นการให้ความรู้ ปรับแนวคิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและการบริการ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติ (Workshop) พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีและเรียนรู้ประโยชน์ของการใช้ระบบ BI (Business Intelligence) ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยบริหารจัดการด้านธุรกิจ อาทิ การเงินและการบัญชี, งานขาย, งานบุคคล และการบริหารทรัพยสินในองค์กร รวมถึงช่วยรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

นายวุฒิไกร กล่าวว่า เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย พร้อมกับนำเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงข้อมูลสารสนเทศเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ อันจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 มีนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,437 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 10.94% (3,098 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 22,645.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 0.61% (22,507.26 ล้านบาท) แบ่งเป็น ชลบุรี 2,458 ราย ทุนจดทะเบียน 15,659.45 ล้านบาท ระยอง 618 ราย ทุนจดทะเบียน 4,122.52 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 361 ราย ทุนจดทะเบียน 2,863.06 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขต EEC คิดเป็น 89.67 % จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคตะวันออก

สำหรับนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ SEC มีจำนวนทั้งสิ้น 637 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 13.95% (559 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 2,850.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 19.97% (2,376.05 ล้านบาท) แบ่งเป็น สุราษฎร์ธานี 354 ราย ทุนจดทะเบียน 1,707.41 ล้านบาท ระนอง 54 ราย ทุนจดทะเบียน 425.07 ล้านบาท ชุมพร 84 ราย ทุนจดทะเบียน 393.65 ล้านบาท และนครศรีธรรมราช 145 ราย ทุนจดทะเบียน 324.51 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขต SEC คิดเป็น 30.86% จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ