ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้การดำเนินนโยบายการเงินไทยมีข้อจำกัดมากขึ้น หลังราคาน้ำมันพุ่งจากความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2020 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านได้ยกระดับสูงขึ้น หลังการลอบสังหารนายพล กัสเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่านในวันที่ 3 ม.ค.63 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลก ณ วันที่ 6 ม.ค.63 สูงขึ้น 7% แตะระดับ 70.5 เทียบกับสิ้นปี 62 ที่ 66 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า สหรัฐฯ และอิหร่านจะมีแผนปฏิบัติการทางทหารต่อจากนี้ในรูปแบบใด ไม่ว่าสหรัฐฯ หรืออิหร่านจะช่วงชิงความได้เปรียบในการโจมตีกองกำลังทหาร ของอีกฝ่ายก่อน เรื่องดังกล่าวก็มีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ยังขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง ขึ้น และระยะเวลาที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง

โดยการประเมินในเบื้องต้น หากราคาน้ำมันดิบดูไบยืนที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าจะ ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 0.75% จากกรณีฐาน กล่าวคือ เงินเฟ้อทั่วไปจะขยับขึ้นมาเป็น 1.15%-1.65% ในขณะที่จะมี ผลต่อ GDP ราว -0.08% (การประเมินดังกล่าว ยังไม่รวมกรณีมีมาตรการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ)

ผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ในกรณีต่างๆ

    ผลต่อเงินเฟ้อทั่วไป             ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่          ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่
      ในปี 2563	                  70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล             80 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล

เป็นระยะเวลา 1 เดือน 	                0.05%	                        0.10%
เป็นระยะเวลา 3 เดือน 	                0.15%	                        0.35%
เป็นระยะเวลา 6 เดือน 	                0.40%	                        0.75%
          หมายเหตุ : ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 กรณีฐานอยู่ที่ 0.7% (ช่วงประมาณการ 0.4%-0.9%) บนสมมุติฐาน
ประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2563 อยู่ที่ 60 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล (ช่วงประมาณการ 57-62 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

          ศูนย์วัจัยกสิกรไทย ประเมินว่า นอกจากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อแล้ว แรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่
แข็งค่าอาจจะลดทอนลง ผ่านการลดลงของเกินดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัด
มากขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ดังนั้น บทบาทหลักในการ
ประคองภาวะเศรษฐกิจในจังหวะที่เผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้าน จะอยู่ที่การดำเนินนโยบายการคลังเป็นหลัก
          "สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงระดับราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ยังยากที่จะคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดังกล่าวคงมีน้ำหนักมากพอที่จะมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงไทยให้
เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ