ศูนย์วิจัยกรุงไทยคาด GDP ปีนี้โต 2.8% มองความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่านไม่กระทบไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 9, 2020 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ว่า ธนาคารยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้จะเติบโตได้ 2.8% แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ในช่วงเดือนก.พ.ก่อนว่า GDP ของไทยในไตรมาส 4/62 และภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 62 จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งหากตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศออกมาไม่ดี ธนาคารจะมีการทบทวนประมาณการ GDP ไทยปีนี้ใหม่อีกครั้ง

ส่วนสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านนั้น มองว่ายังไม่กระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีท่าทีไม่แข็งกร้าวต่อการตอบโต้ของอิหร่าน แต่จะใช้วิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทน ทำให้ตลาดคลายความกังลในการทำสงครามลง

ทั้งนี้ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศท่าทีที่ไม่แข็งกร้าวในการตอบโต้อิหร่าน จึงทำให้มีความผ่อนคลายของตลาดบางส่วน และส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวลดลงมาที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรล จากในช่วงเกิดความตึงเครียดปรับเพิ่มขึ้นไปแตะ 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาเรล ทำให้ธนาคารมองว่าปัจจัยดังกล่าวที่ผ่อนคลายลงนั้นทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปีนี้อยู่ที่ราว 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรล และจะมีผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เพียง 0.2% เท่านั้น ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1% จากปัจจุบันที่ 0.8% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ในกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3%

ส่วนภาคการส่งออกไทยในปี 63 มองว่ายังมีโอกาสติดลบที่ -0.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การค้าขายโลกชะลอตัวตาม ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก รวมถึงทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ธนาคารมองว่าค่าเงินบาทจะหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 29.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเห็นการแข็งค่ามากในช่วงไตรมาส 3/63 และ ไตรมาส 4/63 ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปีนี้ที่ติดลบอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังเห็นการเติบโตที่น้อยเพียง 3% ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังเติบโตได้ 2.8%

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/63 ธนาคารมองว่าจะเติบโตได้ 2.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 0.8% จากไตรมาส 4/62 โดยมีปัจจัยหนุนของการท่องเที่ยวที่ยังเป็นช่วงไฮซีซั่นมาต่อเนื่อง และการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นปี ซึ่งรวมถึงการโอนโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงที่มีมาตรการของรัฐในการให้เงินดาวน์มาสนับสนุน อันจะช่วยผลักดันภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย และช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ ส่งผลให้ยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/63 แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภาคการส่งออกอยู่บ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ