คมนาคม จี้เริ่มใช้ตั๋วร่วมกับบัตร Rabbit-MRT Plus ภายใน มิ.ย.63 ก่อนพัฒนาใช้ EMV/QR Code

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 10, 2020 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 28-1/2563 ว่า จากที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมระยะเร่งด่วน โดยให้สามารถใช้งานผ่านบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบัตร Rabbit ของ BTS สามารถใช้ข้ามระบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น โดยในทางเทคนิคจะต้องพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ระดับที่ 1 เครื่องอ่านบัตรของแต่ละประตูทางเข้าสถานี ระดับที่ 2 ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละสถานี ระดับที่ 3 Clearing House ของแต่ละหน่วยงาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รฟม., บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ,บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิ้งก์ ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ปรับปรุงพัฒนาระบบให้สามารถใช้บัตรร่วมกันได้ภายใน 4 เดือน (ก.พ.-พ.ค.63) และให้เริ่มใช้งานบัตรข้ามระบบได้ในเดือน มิ.ย.63 โดยให้หน่วยงานเจ้าของระบบหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนพัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกัน

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้พัฒนาระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เข้ากับระบบตั๋วร่วม และขอให้รายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไป และระดับที่ 4 ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง เพื่อให้สามารถรองรับบัตรได้ทั้ง 3 รูปแบบ พร้อมนี้ รฟม. จะพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบที่ผูกกับบัญชีในลักษณะของ Account Based Ticketing หรือ ABT เพื่อรองรับบัตรประเภทอื่น ๆ เช่น บัตร EMV หรือ QR Code ไปด้วย และนำเสนอแนวทางดำเนินงานต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามความคืบหน้าทุก ๆ 1 เดือน ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และขอให้รายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค

แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า ได้มีการประเมินว่าการปรับปรุงระบบซอฟท์แวร์หัวอ่านและระบบของรถไฟฟ้า 4 สาย ให้สามารถรับบัตรข้ามระบบได้จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน บัตรรถไฟฟ้าในปัจจุบันมี 4 รูปแบบ คือ บัตรแรบบิท (รถไฟฟ้าบีทีเอส) มีผู้ถือบัตรประมาณ 12 ล้านใบ บัตร MRT plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง) มีผู้ถือบัตรจำนวน 2 ล้านใบ และบัตรแมงมุมมีจำนวน 2 แสนใบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ