"สุวิทย์" ชี้ไทยต้องเร่งลงทุนเชิงคุณภาพ เพื่อหลุดกับดักรายได้ปานกลาง ช่วยตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 15, 2020 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในงานสัมมนา "ปี 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย"ว่า ประเทศไทยติดกับดักที่มีรายได้ปานกลางมานาน ดังนั้นจึงต้องมีการลงทุนเพิ่ม ถ้าหากไม่มีการลงทุนจะไม่สามารถทำให้ไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และต้องทำให้ประเทศเติบโตในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ เพื่อเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

"ถ้าหากไทยมี GDP เพิ่มขึ้น 2 เท่า หากเราโตปีละ 3% ต้องใช้เวลามากถึง 23 ปี ถ้าโตปีละ 4% ใช้เวลา 17.5 ปี หากโต 5%ใช้เวลา 14 ปี และหากโต 6%ใช้เวลา 11.7% สิ่งที่เราต้องทำ คือ คิดใหม่ เป็นการลงทุนเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ การเติบโตเชิงปริมาณไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การเติบโตเชิงคุณภาพเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์ การลงทุนจากนี้ไป คือการลงทุนในองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำให้ไทยไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21" นายสุวิทย์กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมานอกจากไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางแล้ว ยังมีกับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ใน 6 มิติ ตอบโจทย์ประเทศด้านความหลากหลาย เชื่อมโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve และกระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาค

ทั้งนี้ BCG Model จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ทั้งอาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สำหรับความท้าทายในการพัฒนาประเทศที่ต้องเร่งเดินไปข้างหน้า คือ การที่มี 12 ล้านคนทำงานในภาคเกษตร แต่ 90% ของพื้นที่เพาะปลูกที่ปลูกเพียงข้าว, อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด โดยความท้าทาย คือ ราคาสินค้าเกษตรผันผวน รายได้ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และแรงงานภาคเกษตรมีอายุมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องหาพืชเศรษฐกิจใหม่เข้ามาทดแทน รวมถึงการมี Smart Farmer

ด้านพลังงาน พบว่าปัจจุบัน 60% ของพลังงานต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดย 15.5% ของพลังงานในประเทศ มาจากพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นความท้าทาย คือ การจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และลดการนำเข้า ส่วนการท่องเที่ยว ที่มีรายได้ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 4 ของโลกนั้น แต่พบว่า 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 35 ล้านคนยังกระจุกตัวแค่ใน 8 จังหวัด ซึ่งความท้าทายคือนักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถที่จะรองรับ ดังนั้นจึงต้องกระจายท่องเที่ยวไปยังเมืองรองให้มากขึ้น

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เป้าหมายอีก 5 ปี คือไทยจะยืนในเวทีโลกด้วยการสร้างจากความแข็งแกร่งภายในประเทศ แต่ต้องสร้างผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ และการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ชั้นแนวหน้า โดยจะต้องมีการปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ การสร้างความสามารถของกำลังคน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก ยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศที่บีโอไอจะเข้ามาช่วยได้

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์. จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนนโยบาย BCG ที่มี 8-9 กระทรวงใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน ส่วนอีกชุดได้ตั้งกรรมการบริหารให้ตนเป็นประธานกรรมการบริหาร เพื่อขับเคลื่อน BCG ผ่านพหุภาคี

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในหัวข้อ "สู่บริบทใหม่การลงทุนไทย"ว่า ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนเป็นตัวสะท้อนการลงทุน ภาวะอุตสาหกรรมและการบริการว่าจะมีทิศทางไปทางใด ช่วงที่ผ่านมา มีการแข่งขันออกมาตรการเพื่อชักจูงให้เข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก แต่ประเทศไทยยังคงมีคำขอส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสามารถทำได้ตามเป้าที่ 7.56 แสนล้านบาท แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนจริง ซึ่งต้องหามาตรการเร่งให้เกิดการลงทุน

เลขาบีโอไอ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้บีโอไอหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเร่งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งมาตรการที่ออกมาต้องคลอบคลุมทั้งผู้ที่ได้สิทธิ์และไม่ได้สิทธ์บีโอไอ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังเป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน และได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร หรือฝึกทักษะให้กับนักศึกษาฝึกงาน รวมทั้งบีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะมีการหารือกับทาง ธ.ก.ส.เพื่อออกมาตรการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้น และโจทย์สำคัญ คือ ต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางให้ปรับตัวไปสู่การแข่งขันในอนาคตมากขึ้น

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตนั้น ในปีที่ผ่านมามีการยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุน 170 โครงการ โดยเป็นคำขอเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพียง 20% ที่เหลืออีก 80% เป็นคำขอเพื่อติดตั้งแผงโซล่าร์บนหลังคา เพื่อใช้พลังงานทดแทน ซึ่งอาจยังไม่สะท้อนถึงการยกระดับความสามารถการแข่งขันในระยะยาวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ