(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ธ.ค.ส่งออกหดตัว -1.28%, นำเข้าโต 2.54%,ทั้งปี 62 ส่งออก -2.65% นำเข้า -4.66%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2020 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ธ.ค. 62 โดยการส่งออกมีมูลค่า 19,154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงหดตัว -1.28% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัวราว -1.25% ถึง -1.50% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าคิดเป็นมูลค่า 18,558.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับมาขยายตัว 2.54% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 595.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนทั้งปี 62 การส่งออกมีมูลค่า 246,244.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.65% เมื่อเทียบกับปี 61 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,639.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.66% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,604.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนธ.ค. 62 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนจากการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการมีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งจากอานิสงส์ในการทดแทนสินค้าในตลาดสหรัฐฯ และจีน และความสามารถในการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกในหลายตลาด

นอกจากนี้ การลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อ 15 ม.ค. 63 และความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกเดือนธ.ค. 62 หดตัวราว 1.3% แต่เมื่อหักทองคำและน้ำมันออกจะขยายตัว 1.2%

อีกทั้ง การส่งออกไปตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไป 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ (15.6%) และจีน (7.3%) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และ 18 เดือน ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 11.4% และ 8.0% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน และ 16 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 1.1%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกปี 62 ว่า การส่งออกไทยปี 62 หดตัวที่ -2.65% โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกไทย ได้แก่ 1)การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้า โดยมีประเด็นสงครามการค้าเป็นตัวแปรหลักทำให้กิจกรรมการผลิตชะลอตัวในหลายประเทศคู่ค้าของไทย ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป รวมถึงความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

2) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันตลอดปี 2562

3) สินค้าอุตสาหกรรมหลัก อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดหลักความท้าทายในการปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและการควบคุมมาตรฐานผลิต/การส่งออก

4) สินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลก และอุปทานขาดแคลนในบางสินค้า

เมื่อพิจารณาในรายตลาด พบว่าการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา เบลเยียม และบราซิล ที่ขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี อีกทั้งตลาดไต้หวัน และเม็กซิโก ที่การส่งออกกลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปี

ส่วนแนวโน้มการส่งอออกในปี 63 น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกเริ่มมีเสถียรภาพจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะข้างหน้า สะท้อนจากอัตราการหดตัวที่ลดลง การปรับตัวของกลุ่มสินค้าสำคัญภายใต้สงครามการค้า รวมถึงการกระจายตัวของตลาดส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในประเทศและราคาน้ำมันในระดับต่ำ ปัจจัยเฉพาะอุตสาหกรรมในสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ และสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ดี การลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้น นอกจากนี้แม้ว่าในปี 63 ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน สหภาพยุโรปยังมีทิศทางชะลอตัว แต่สัญญาณความพร้อมการใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และการบริโภคที่ยังแข็งแกร่งจะเป็นโอกาสสินค้าส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภคที่มีแต้มต่อในการบุกตลาดด้วยคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

นอกจากนี้ การส่งออกไทยไปตลาดญี่ปุ่น อาจได้อานิสงส์จากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 63 และข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 63

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กลุ่มสินค้าเป้าหมายที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการส่งออกในปี 63 ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

นอกจากนี้ การเร่งกระชับสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรุกตลาดในประเทศคู่ค้าที่การส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว ตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ตลาดยุโรป ได้แก่ ตุรกี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ตลาดเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ศรีลังกา และเมียนมา ตลาดอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา จะช่วยให้รักษาฐานการกระจายตัวของตลาดส่งออก เพื่อรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดตามแนวนโยบายของ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ที่มีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมาย 18 ประเทศ ในปี 63 เช่นเดียวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อสร้างแต้มต่อและขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ