พลังงาน พร้อมใช้เทคโนโลยีบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ ป้องกันการลักลอบนำเข้าจากตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2020 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลังงาน พร้อมใช้เทคโนโลยีบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ ป้องกันการลักลอบนำเข้าจากตปท.

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมนำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์และสถิติขั้นสูงมาวิเคราะห์ข้อมูล โดยดำเนินการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา พัฒนาระบบที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ สืบเนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบได้ แม้จะมีกฎหมายรองรับและมีบทลงโทษผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบก็ตาม แต่การนำน้ำมันปาล์มดิบที่ลักลอบเข้ามาผสมกับน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก

พลังงาน พร้อมใช้เทคโนโลยีบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ ป้องกันการลักลอบนำเข้าจากตปท.

การวิเคราะห์ข้อมูลบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ แล้วยังจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศโดยรวม รวมถึงช่วยเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรแบบยั่งยืน

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานพร้อมนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะได้เร่งติดตั้งมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณไบโอดีเซล (B100) ทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิต เพื่อติดตามปริมาณ B100 แบบ Real timeด้วย

ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมผลักดันให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศเพื่อส่งเสริมการใช้ B100 ในภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายในการมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ให้สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตที่งหมดของไทยในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 2.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน

"กระทรวงพลังงานเตรียมนำ 2 เทคโนโลยี เพื่อติดตั้งถังน้ำมันไบโอดีเซล B100 ป้องกันการลักลอบการนำเข้านับเป็นครั้งแรกของประเทศที่สามารถสกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยเทคโนโลยีดังกล่าว จะตรวจสอบที่โรงงานผลิต B100 ทั้ง 13 บริษัท ซึ่งเทคโนโลยีแรกที่ใช้จะสุ่มตรวจ CPO เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีใน CPO ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น CPO จากการนำเข้า กระทรวงฯจะปฏิเสธการรับซื้อ CPO ดังกล่าวเพื่อมาผลิตเป็น B100 ทันที พร้อมทั้งส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีผู้จำหน่าย CPO ในฐานะลักลอบนำเข้า CPO จากต่างประเทศ"นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้ดำเนินการในการตรวจสอบ โดยเทคโนโลยี หรือแล็บเคลื่อนที่ดังกล่าว มูลค่า 3-5 ล้านบาทต่อเครื่อง และจะเริ่มตรวจสอบอย่างจริงจัง คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ พร้อมกับมาตรการบังคับใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ซึ่งจะมีการจำหน่ายในทุกสถานีบริการน้ำมันตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้

นอกจากนี้ยังเตรียมเทคโนโลยีที่ 2 คือการติดตั้งซอฟต์แวร์ Automatic Tank Gauge (ATG) เพื่อตรวจสอบสต็อก B100 แบบเรียลไทม์ เพื่อส่งขhอมูลเข้าระบบออนไลน์ของกรมฯ ล่าสุดกรมฯทยอยติดตั้งแล้ว 42 ถัง จากทั้งสิ้น 76 ถัง ส่วนที่เหลือจะติดตั้งเสร็จทั้งหมดในเดือนต.ค.63

ขณะเดียวกันจะมีการใช้เทคโนโลยีที่ 3 มาป้องกันเพิ่มเติม ซึ่งจะประกาศใน 2 เดือนข้างหน้า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมการ ซึ่งขอให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่ามาตรการดีเซล B10 ทุกหยด CPO ที่มาผลิต B100 นั้นจะมาจากไทย และเป็นการช่วยเหลือยกระดับราคาปาล์มของไทยให้มีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาผลปาล์มดิบสูงสุดเป็นประวิการณ์บางพื้นที่ราคาถึง 8 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้ราคา CPO เดือน ม.ค.63 ราคาสูงถึง 38 บาท/กิโลกรัม ราคา B100 อยู่ที่ 39.74 บาท/ลิตร เป็นผลมาจากนโยบายการประกาศใช้ดีเซล B10 ของกระทรวงพลังงาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีสต็อก B100 อยู่ที่ 120 ล้านลิตร ขณะที่ยอดใช้ B100 ล่าสุดอยู่ที่ 5 ล้านลิตร/วัน และเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านลิตร/วัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือบมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ขยายเวลาจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 จากเดิมจะสิ้นสุดมาตรการภายในเดือนม.ค.นี้ ไปจนถึงสิ้นเดือนก.พ.นี้ ขณะเดียวกันจะหามาตรการเพิ่มเติมเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ