สรท.เสนอ 3 แนวทางลด PM2.5 ภาคขนส่งระยะยาวแทนจำกัดเวลารถบรรทุกห่วงทำต้นทุนเพิ่มกระทบส่งออก-นำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 29, 2020 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.เห็นด้วยกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป กลับยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มเติมอีกด้วย

เนื่องจาก สรท.ได้สอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการแล้วพบว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจะสร้างภาระเรื่องต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 1,000-5,000 บาทต่อเที่ยวขนส่ง เนื่องผู้ประกอบการต้องปรับรอบเวลาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเวลาที่อนุญาตให้เดินรถ ทำให้มีปริมาณรถสะสมจำนวนมากจะไปถึงสถานที่ปลายทาง อาทิ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง จนเกิดปัญหาการจรจาจรแออัดในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ผู้นำเข้าส่งออกที่มีปริมาณสินค้าจำนวนมากในแต่ละวันไม่สามารถบรรจุสินค้าให้ทัน ทำให้รถบรรทุกต้องจอดในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 วันเพื่อรอรอบการเดินรถในวันถัดไป อีกทั้งสถานประกอบการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนใหญ่มีพื้นที่จำกัดในการจอดรถบรรทุกรอขนถ่ายสินในเวลากลางวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรโดยรอบสถานประกอบการ

การกำหนดเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ กระทบต่อความต้องการในการขนส่งที่มีเท่าเดิมแต่รอบการขนส่งลดลง ทำให้มีปริมาณรถบรรทุกจำนวนมากไปถึงท่าเรือกรุงเทพ ทำเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่องลาดกระบังในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเกิดปัญหาจราจรแออัดในพื้นที่ดังกล่าวจนไม่สามารถขนส่งสินค้าจากสถานประกอบการได้ทันภายในวันเดียวกัน และอาจเป็นเหตุให้สินค้าตกเรือหรือไม่สามารถคืนตู้สินค้าให้สายเรือและลานกองตู้สินค้าทันตาม กำหนดเวลาได้

ดังนั้น สรท.จึงมีข้อเสนอ 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1.ควรผ่อนผันให้รถบรรทุกที่ใช้พลังงานสะอาด อาทิ NGV และ B10 ซึ่งลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศสามารถเดินรถได้ตามปกติ พร้อมทั้งให้สนับสนุนผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบรรทุกขนาดเล็ก อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้สิทธิประโยชนด้านภาษี ลดต้นทุนประกันภัย

2.ควรเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้า-ออกท่าเรือหลักของประเทศเป็นอย่างน้อย 25% จากจำนวนตู้สินค้าทั้งหมด โดยกระทรวงคมนาคมต้องเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ, จัดหาหัวรถจักรและแคร่รถไฟ, จัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ, การบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงหัวรถจักร แคร่รถไฟ และอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าที่มีให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ, เร่งรัดการดำเนินงานของกรมราง และเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาลงทุนให้บริการ เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งให้เพียงพอและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการมากยิ่งขึ้น และควรพัฒนาสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) แห่งใหม่ รอบพื้นที่กรุงเทพ และไอซีดีภูมิภาค

3.ควรเร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) เพื่อให้สามารถปรับปรุงบริหารจัดการ ทั้งการบำรุงรักษาพื้นที่และการจราจภายในไอซีดี การลงทุนจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ยกขนสินค้า แรงงาน และสาธารณูปโภค ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปริมาณรถบรรทุกสินค้าเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน และให้พร้อมรองรับปริมาณความต้องการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น


แท็ก การนำเข้า   PM 2.5  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ