คลังเผยสิ้น ธ.ค.62 นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัส รวม 1,279 ราย อนุญาตแล้ว 1,152 ราย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 30, 2020 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.62 ที่ สศค.ได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ต.ค.62 เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดทำเอกสารแผนการดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ประกอบการยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การจัดทำเอกสารแผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้การพิจารณาใบอนุญาตได้รวดเร็วขึ้น

โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate)) สะสมทั้งสิ้น 782 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.62 จำนวน 52 ราย และประเภทพิโกพลัส (ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี (Effective Rate)) สะสมทั้งสิ้น 22 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.62 จำนวน 7 ราย

โดยในเดือน ธ.ค.62 ยังคงมีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัส เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัส สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชนในวงเงินที่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ได้ด้วย

นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.62 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัส รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,279 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (110 ราย) กรุงเทพมหานคร (98 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมจำนวนทั้งสิ้น 127 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิเป็นจำนวน 1,152 ราย ใน 75 จังหวัด และมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิเป็นจำนวน 773 ราย (ขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 19 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 12 ราย) ใน 72 จังหวัด

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 636 ราย ใน 68 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น

1.สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,011 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิแล้วจำนวน 751 ราย ใน 72 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 622 รายใน 68 จังหวัด

2.สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 141 ราย ใน 53 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมซึ่งได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 79 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่จำนวน 62 ราย ใน 28 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้วจำนวน 22 ราย ใน 14 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 14 ราย ใน 8 จังหวัด

โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน พ.ย.62 จำนวน 176,249 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 4,717 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,763.20 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 88,703 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,588.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.88% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 87,546 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,128.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 45.12% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือน พ.ย.62 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 92,785 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,476.75 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมจำนวน 11,014 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 308.93 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.47% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 9,900 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 271.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.96% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 มีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 623,667 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,364.02 ล้านบาท จำแนกเป็น สินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 577,918 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,390.62 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 45,749 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,973.40 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ