สรท.คงเป้าส่งออกปี 63 โต 0-1% ยังไม่รวมผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัสโคโรนา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 4, 2020 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรท.คงเป้าส่งออกปี 63 โต 0-1% ยังไม่รวมผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัสโคโรนา

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในหลายประเทศทั่วโลก อาจส่งผลกระทบเชิงลบ เช่น 1.1 ภาคการท่องเที่ยว จะมีเม็ดเงินหายไปเกือบแสนล้านบาท 1.2 การลงทุนและการส่งออกของไทยในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบ เพราะการส่งออกไปจีนไม่ได้ ทำให้ Over Inventory เนื่องจากตลาดจีนมีสัดส่วนการส่งออกในปี 2562 กว่า 11.8% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก ทั้งนี้ สรท. ประเมินว่าการส่งออกของไทยไปจีนในไตรมาสแรกของปี 2563 อาจสูญรายได้หลายพันล้านบาท 1.3 การขนส่งสินค้าเข้าจีนบางสายเรือยังเปิดรับจองระวางไปเมืองอื่น (ยกเว้นอูฮั่น) แต่ศุลกากรปลายทางยังไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าประเทศจีนได้ ทำให้สินค้ายังคงค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทาง และเมื่อเปิดบริการตามปกติ (คาดว่าหลังวันที่ 10 ก.พ. เป็นต้นไป) จะมีเรือและสินค้าจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าเรือซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่า Port Congestion Surcharge

2. กรณีค่าเงินบาทแข็งค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ผู้ประกอบการในประเทศเร่งนำเข้าวัตถุดิบมาสต็อกเตรียมการผลิต หากแต่วัตถุดิบบางรายการโดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกจำกัดด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้า (หรือโควตา) อาทิ มะพร้าว หอมหัวใหญ่ กาแฟ ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีผลิตเพียงต่อผลิตเพื่อส่งออก 2.1 ปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าปีนี้จะส่งผลรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ย่อมส่งผลโดยตรงต่อผลิตทางการเกษตร ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมเรื่องวัตถุดิบในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต

3. ผลกระทบจากการออกมาตรการจำกัดการวิ่งของรถบรรทุกในการเข้าพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก และการห้ามวิ่งรถในวันคี่ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานนั้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการ อาทิ ต้นทุนการขนส่งทางรถบรรทุกเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 – 5,000 บาทต่อเที่ยวขนส่ง ประกอบกับปริมาณรถสะสมจำนวนมากจะไปถึงสถานที่ปลายทาง อีกทั้งส่งผลต่อการปฏิบัติงานขนส่งและความแออัดในประตูการค้าหลัก (บริเวณรอบท่าเรือและชุมชนรอบโรงงาน)

4. ความล่าช้าในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขาดความต่อเนื่องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอันเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาชน

ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในหลายประเทศทั่วโลก อาจส่งผลกระทบเชิงบวก เช่น ไทยอาจได้รับอานิสงค์สำหรับ spot shipment จากลูกค้าของจีนหันมานำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทยเพื่อทดแทน 2. ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย เป็นโอกาสดีในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการประมาณการซื้อ forward rate ได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงช่วยดึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทดแทนนักท่องเที่ยวจีน 3. การลงนามความตกลง สหรัฐฯ และจีน ระยะแรก ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศผ่อนคลายมากขึ้น และ 4. การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 1.1 สรท. สนับสนุนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 มกราคม 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ดังต่อไปนี้ 1) ความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ รถโดยสารและรถบรรทุก ควันดำอย่างเคร่งครัด 2) การออกคำสั่งห้ามการใช้รถที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนดมาใช้ในทางเดินรถ 3) การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ 4) การแก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยการคืนพื้นที่จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ระยะทาง 500 กโลเมตร รอบกรุงเทพและปริมณฑล 5) การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ควบคุมการเผาขยะมูลฝอย ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของตนเองหรือที่สาธารณะ และ 6) ข้อเสนออื่นๆ อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน รถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน การลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm การให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี

1.2 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ในระยะยาว 1) สนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกพลังงานสะอาดให้มากขึ้น อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ลดต้นทุนประกันภัย และควรผ่อนผันให้รถบรรทุกที่ใช้พลังงานสะอาด อาทิ NGV และ B10 ซึ่งลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศสามารถเดินรถได้ตามปกติ 2) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เข้า-ออก ท่าเรือหลักของประเทศเป็นอย่างน้อย 25% จากจำนวนตู้สินค้าทั้งหมด 3) ควรเร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) เพื่อให้สามารถปรับปรุงบริหารจัดการทั้งการบำรุงรักษาพื้นที่และการจราจรภายในไอซีดี และ 4) ควรเร่งรัดดำเนินโครงการ Bangkok Port Warehouse Development ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณสินค้าในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ

2. เรื่อง ปัญหาการจำกัดโควตานำเข้าสินค้า ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่อนคลายมาตรการนำเข้าวัตถุดิบ โดย 1) การกำหนดเพิ่มโควตานำเข้าวัตถุดิบบางรายการโดยเฉพาะสินค้าเกษตรเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในปีนี้ที่คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา 2) ผ่อนคลายกฎระเบียบในการขออนุญาตนำเข้าให้มีความสะดวกมากขึ้นในช่วง Short stock และ 3) เรื่อง หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดจีนในระยะสั้น จากปัญหาโคโรน่าไวรัสทำให้จีนปิดเมืองสำคัญหลายเมืองทำให้การส่งออกสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือได้รับผลกระทบ ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาตลาดทดแทนจีนในระยะสั้นโดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปจีน

สำหรับส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.28% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 573,426 ล้านบาท หดตัว -9.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 18,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 563,799 ล้านบาท หดตัว -6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนธันวาคม 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 9,627 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ธ.ค. ขยายตัว 1.2%)

ส่วนภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ธ.ค.62 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 246,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,627,663 ล้านบาท หดตัว -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 7,627,663 ล้านบาท หดตัว -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-ธ.ค.62 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,605 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 190,352 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ม.ค.- ธ.ค. หดตัว -2.65%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ