ปอศ. ตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยลงเฉลี่ย 3% ต่อปี เข้มบังคับใช้กฎหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 4, 2020 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากปี 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาจำนวนมากกว่า 100 ราย เจ้าหน้าที่ฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดย บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน

สำหรับในปี 2562 ได้มีการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจ จำนวน 469 คดี เพิ่มขึ้นจาก 395 คดี ในปี 2561 โดยมีมูลค่ากว่า 464 ล้านบาท ลดลงจาก 661 ล้านบาทในปี 2561 องค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

สำหรับในปี 2563 นี้ เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด

ด้านนางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถนำออกเผยแพร่ได้ในไม่ช้า

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ