"ศักดิ์สยาม"ชง ครม.เคาะขยายสัมปทาน BEM ยันขั้นตอนพิจารณาถูกต้อง-คุ้มค่า,ย้ำปัดรับข้อเสนอ Double Deck

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 13, 2020 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ส่งเรื่องการขยายอายุสัมปทาน ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือนให้กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันดำเนินการถูกต้องภายใต้การคำนวณจากตัวเลขสถิติปริมาณการใช้รถบนทางด่วน ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ทำผิดสัญญาจากการสร้างทางแข่งขัน และไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง รวมคดีที่ BEM ฟ้องมี 17 คดี รวมมูลหนี้ 1.3 แสนล้านบาท แต่ กทพ.ได้เจรจาลดลงเหลือ 5.8 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีตัวเลขการใช้งานจริงรับรอง ดังนั้น คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมาให้ดูแลเรื่องนี้คำนวณตัวเลขจากข้อมูลกรมทางหลวง และ กทพ.ที่มีการเก็บสถิติรถวิ่งผ่านทางด่วนกับค่าผ่านทาง คิดมาแล้วที่ BEM สูญรายได้ไปกว่า 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และเป็นตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ให้จ่ายเอกชนโดยไม่ต้องชำระเป็นเงินแต่ให้จ่ายเป็นเวลา จึงให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ใช้สูตรคำนวณออกมาเป็นระยะเวลา 19 ปี 1 เดือน ขณะที่มีการเจรจาให้ขยายเวลาสัมปทาน BEM เป็น 15 ปี 8 เดือนไปแล้วก็ถือว่าดีกว่าผลที่คำนวณ แต่ก็ให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมไปเจรจาให้น้อยกว่า 15 ปี 8 เดือน และผลเจรจาได้ 15 ปี 8 เดือนลบด้วยวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่มีประมาณ 18-20 วันแล้วแต่ครม.จะประกาศ หรือคิดเป็นประมาณกว่า 14 ปี และคิดเป็นตัวเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สัญญาที่ขยายไปก็ยังคงอยู่ภายใต้ส่วนแบ่งรายได้ 40:60 เช่นเดิม

"เรื่องนี้ถ้าจะถูกอภิปราย ก็น่าจะชี้แจงได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ผ่านการศึกษาของสภาฯมาแล้ว แล้วสภาฯเจรจาได้เวลามากกว่าที่เราคิด เรามีตัวเลขหมด เป็นวิชาการทุกตัวมีที่ไปที่มาไม่ใช่นั่งเทียนแล้วก็ยกให้"นายศักดิ์สยาม กล่าว

ส่วน Double Deck ที่เอกชนเสนอลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทแลกกับการขยายสัมปทานอีก 14 ปี 4 เดือนนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า หากให้ดำเนินการก็อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นค่าโง่ เพราะระยะเวลาที่ขยายให้เอกชนอีก 14 ปี 4 เดือน เมื่อคำนวณเป็นตัวเงินจะมีจำนวนมาก ดังนั้น จึงสั่งการให้ กทพ.ศึกษาการจราจรทางด่วนทั้งระบบ เพราะมีหลายจุดที่มีปัญหาจราจรติดขัด อาทิ ทางลงยมราช ทางลงศูนย์ราชการ ทางเชื่อมระหว่างขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ขณะที่แนวทาง Double Deck ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และยังไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งคาดใช้เวลาเป็นปี

ขณะเดียวกัน จะมีโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 เข้ามาบรรเทาการจราจรบนทางด่วน โดยเรื่องนี้คณะกรรมการ กทพ.เพิ่งอนุมัติเมื่อ 28 ธ.ค.62 เงินลงทุนมาจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) EIA ก็ทำเสร็จแล้ว แบบก่อสร้างก็พร้อม ขณะนี้กำลังจัดทำข้อกำหนดในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) เตรียมจ้างเอกชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2.5-3 ปีแล้วเสร็จ

โดยโครงการ N2 จะช่วยจราจรติดขัดบนทางด่วนลงไป 30% ทันที ระหว่างนั้น กทพ.ก็ศึกษาการจัดทำ Double Deck ทั้งระบบซึ่งกำหนดให้ 2 ปี แต่จะทำเป็นช่วงๆ โดยให้เข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างปกติ ไม่ใช่จ้างแบบวิธีพิเศษ ขณะที่ในปี 66-67 ที่โครงข่ายรถไฟฟ้าเต็มสมบูรณ์ก็คาดว่าจะมีจำนวนรถใช้ทางด่วนลดลง เพราะคนหนีไปชึ้นระบบรางแทน ก็น่าจะทำให้การจราจรบนทางด่วนเบาบางลง

https://youtu.be/jsykZXNZZ30


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ