"มนัญญา"เตรียมคลอดมาตรการเร่งด่วนบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนผลไม้ที่ได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2020 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรรองรับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 เป็นมาตรการเร่งด่วน เพื่อให้การระบายผลผลิตออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ป้องกันปัญหาผลไม้กระจุกตัวและล้นตลาด โดยจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศเป็นกลไกในการระบายผลไม้สู่ตลาด ในทุกพื้นที่และเข้าถึงผู้บริโภค ในราคาที่เป็นธรรม โดยสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้รวบรวมและกระจายผลผลิตส่งขายให้กับสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าและสหกรณ์ขนาดใหญ่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย.63 เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายในการกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ 80,000 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน 40,00 ตัน มังคุด 20,000 ตัน และลำไย 20,000 ตัน

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุดและลำไย ซึ่งในแต่ละปีทางประเทศจีนมีปริมาณการสั่งซื้อผลไม้เหล่านี้จากไทยจำนวนมาก จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) 3 ประเทศหลักที่สั่งซื้อผลไม้ของไทย ได้แต่ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม รวม 1,324,637 ตัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปประเทศจีนจำนวน 570,833 ตัน ฮ่องกง 114,260 ตัน และเวียดนาม 639,545 ตัน

สำหรับปีนี้คาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดรวม 3,072,591 ตัน โดยแบ่งเป็น ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกองและลิ้นจี่ และเมื่อนำผลผลิต 3 ชนิดสำคัญ คือ ทุเรียน ลำไย มังคุดรวมกัน จะมีปริมาณมากกว่า 84 % ของปริมาณผลไม้ทั้งประเทศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรองรับ ผลผลิตที่ไม่สามารถส่งออกได้จะกระจุกตัวกลับมาสู่ตลาดในประเทศ ส่งผลทำให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำและเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน ขณะเดียวกันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ 104 แห่ง ใน 31 จังหวัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 95,321 ราย ปริมาณการรวบรวมผลไม้ในปี 2562 ที่ผ่านมา 32,242.53 ตัน มูลค่า 966.173 ล้านบาท และมีการส่งออกผลผลิตทุเรียน มังคุด และลำไย ไปประเทศจีน 12,251.16 ตัน มูลค่า 572.45 ล้านบาท

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์วงเงิน 414.20 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทางกิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัดและระดับอำเภอ 824 อำเภอ และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% ให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้จากเกษตรกรในฤดูกาล ปี 2563

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 โดยการสนับสนุนการกระจายผลไม้ผ่านสถาบันเกษตรกรในช่วงฤดูกาลผลิต ปี 2563 จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ คิดเป็นมูลค่า 1,760 ล้านบาท และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 7,644.071 ล้านบาท หรือ 18.45 เท่าของการลงทุนจากภาครัฐ และในวันที่ 8 - 9 มีนาคม นี้ จะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งได้เชิญตัวแทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลไม้ รับฟังการชี้แจงถึงมาตรการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และจะมีการประชุมสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันกระจายผลไม้ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตต้นทางกับสหกรณ์ผู้บริโภค กว่า 150 แห่ง พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ กับคู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดนเทรด บริษัทเอกชนและผู้ส่งออก

ทั้งนี้ คาดหวังว่าการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 ด้วยการสนับสนุนให้มีการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ จะช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตกระจุกตัวในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน และมีช่องทางในการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดและถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ช่วยดูดซับผลผลิตในตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและยกระดับคุณภาพผลผลิตให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร มีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิต เพื่อไม่ให้ผลไม้ราคาตกต่ำ และสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ