สรท.ชี้โควิด-19 ทำส่งออกไทยปี 63 หดตัวทั้งด้านผลิตและโลจิสติกส์ คาดเริ่มเห็นผลตั้งแต่ก.พ.เป็นต้นไป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2020 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย ภายใต้สมมติฐานว่าถ้าการส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบ -75% ถึง -25% เรียงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากสุดที่ -75% เดือนมีนาคมได้รับผลกระทบ -50% และเดือนเมษายนถึงมิถุนายนได้รับผลกระทบ -25% ตามลำดับ จะทำให้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/63 หดตัวประมาณ -3.6% ไตรมาส 2/63 หดตัวประมาณ -2.91% และครึ่งปีหลัง 63 หดตัวประมาณ -3.3%

โดยปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนกับจีนที่ต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อการผลิตทั้งของไทยและจีน โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนจากการส่งออกในเดือน ก.พ.63

อีกทั้งเกิดปัญหา Disrupt ในระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางถนน ถึงแม้โรงงานและระบบศุลกากรจีนจะเริ่มกลับมาทำงานบ้างแล้ว แต่พนักงานยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มจำนวน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าเรือและการตกค้างของสินค้า ประกอบกับเกิดต้นทุนส่วนเพิ่มจากการเรียกเก็บค่า congestion surcharge โดยเฉพาะตู้ Reefer ที่ต้องใช้ในกลุ่มผักและผลไม้สด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบของภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปี 63 ส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดลดลง ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกในปี 63 ว่าจะเติบโตที่ระดับ 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.50 บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1.เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 มี.ค. 63 เท่ากับ 31.48 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในกรอบ 31.0-31.84 บาท/ดอลลาร์) จากการปรับลตอัตราตอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จาก 1.25% เป็น 1.00% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจากความกังวลในสถานการณ์การระบาดของโรด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และเสถียรภาพของเงินบาท

2.ทิศทางราคาทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มการถือครองเพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เป็นให้ผลดีช่วยให้ทิศทางการเติบโตของการส่งออกในภาพรวมให้ดีขึ้น และ 3.ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังตลาดวิตกสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉุดความต้องการน้ำมันดิบในตลาตโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศลดต่ำลง

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย ด้านต้นทุนการเงิน

1. เน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในดำเนินธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนเงินดอกเบี้ยต่ำระยะ 6 เดือน และการขยายระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อเพื่อการส่งออกระยะเวลา 12 เดือน

2. การหยุดพักชำระหนี้ธนาคารและค่าธรรมเนียมต่งๆ เป็นระยะเวลา 12 เดือน

3. การยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พึงพาตลาดจีนเป็นหลัก

4. การชะลอเรียกเก็บภาษีใหม่ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ ภาษีความหวาน ความเค็ม เป็นต้น

ด้านการตลาดและโลจิสติกส์

1. กระทรวงพาณิชย์ควรจัดให้มีทีม Social Media หรือ Call Center เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสอบถามและรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลสำหรับประกอบการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ และควรเป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารลำสุดเพื่อประกอบการการตัดสินใจของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศจีนรายมณฑล จุดขนส่งสินค้าต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้

2. เพิ่มความถี่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Thailand Exhibition)

3. กระทรวงพาณิชย์ควรประสานขอความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ทั้งส่วนกลางและรายมณฑล ในเรื่องผ่อนปรนกฎระเบียบการนำเข้าและส่งออกสินค้า และยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ congestion surcharge และ storage charge

4. ขอให้เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี FTA อาทิ Thai-EU, RCEP, Thai-United Kingdom, Thai-Pakistan, Thai-Turkey, Thai- EFTA และ Thai-Sri Lanka เพื่อชดเชยการพึ่งพาตลาดจีนและเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดใหม่เพิ่มมูลค่าการส่งออก และเพื่อไม่ให้ไทยเสียตลาดหลักให้กับคู่แข่งที่ได้มีการทำ FTA ไปกับกลุ่มประเทศดังกล่าวก่อนหน้า

5. กำกับดูแลให้สายเรือขนส่งสินค้าจัดหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออกในอัตราค่าระวางที่เหมาะสม

6. จัดหาบริการขนส่งสินค้าทางอากาศในลักษณะเช่าเหมาลำ (Charter Flight-Freighter) เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้า Perishable ซึ่งไม่สามารถขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากยังมีปัญหาท่าเรือแออัด

7. เตรียมความพร้อมท่าเรือของไทย สำหรับรองรับความต้องการขนส่งสินค้าน้ำเข้าและส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อป้องกันบัญหาความแออัดของสินค้า เมื่อประเทศจีนสามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ