คลังเผยสิ้น ก.พ.63 นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัสรวม 1,168 ราย ได้ใบอนุญาตแล้ว 816 ราย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2020 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ.63 ยังคงมีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิ 1,168 ราย เพิ่มขึ้น 12 รายจากเดือน ม.ค.63

ในจำนวนนี้เป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate)) สะสมสุทธิจำนวน 1,017 ราย และผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี (Effective Rate)) สะสมสุทธิจำนวน 151 ราย อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.พ.63 มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เปิดดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ระนอง และชุมพร เพื่อเป็นทางเลือกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของ 2 จังหวัดดังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือน ก.พ.63 สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ.63 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,302 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (101 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 134 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,168 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 816 ราย ใน 72 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 21 ราย)

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 702 ราย ใน 71 จังหวัด ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,017 ราย ใน 75 จังหวัด มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 777 ราย ใน 72 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 671 ราย ใน 70 จังหวัด เพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ ระนอง และชุมพร

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 151 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 68 ราย ใน 29 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 39 ราย ใน 20 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 31 ราย ใน 17 จังหวัด

(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือน ม.ค.63 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 212,155 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 5,699.07 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,862.77 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 105,941 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,092.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 106,214 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,606.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะเดียวกันมียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 99,555 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,602.55 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 11,725 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 326.30 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.54% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 11,522 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 325.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.5% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินนับตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.63 มีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 624,370 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,366.06 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 578,584 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,390.92 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 45,786 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,975.14 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ