รมว.พลังงาน เดินหน้าหนุน B10 พร้อมนำบล็อกเชนปฏิรูปซื้อขายปาล์มทั้งระบบนำร่อง มิ.ย.หวังพยุงราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 13, 2020 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงยังคงผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำ ด้วยการเร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ส่วนที่เหลือ 37,550 ตันเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า และยังคงเดินหน้าสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 ซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) 10% ในน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยดูดซับสต็อก CPO ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และหนุนให้ราคาผลปาล์มขยับขึ้น รวมถึงในอนาคตเตรียมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายปาล์มทั้งระบบ คาดว่าจะนำร่องได้ในเดือน มิ.ย.นี้เพื่อช่วยพยุงราคาปาล์ม

ปัจจุบัน สถานการณ์การราคาผลปาล์มตกต่ำลงอยู่ที่ 2.7-2.9 บาท/กิโลกรัม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงฤดูกาลของผลผลิต และการบริโภคลดลง 20-30% มาที่ 7.5-8.0 หมื่นตัน/เดือน จากปกติที่ราว 1 แสนตัน/เดือน ตลอดจนการใช้ในภาคพลังงานลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้ B100 ลดลงมาอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตร/วัน จาก 5.3 ล้านลิตร/วันในเดือนม.ค.

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค.63 ที่ทางการเริ่มคลายล็อกดาวน์มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้สกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดใช้ B100 ฟื้นตัวขึ้นมาเฉลี่ย 5.4 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะช่วยผลักดันความต้องการใช้ CPO เพิ่มขึ้น สะท้อนได้ว่าการผลักดันการใช้ B10 จะช่วยดูดซับสต็อก CPO ออกจากระบบเพื่อมาผลิตเป็น B100 เพื่อใช้ผสมใน B10 นั้นยังเป็นกลไกที่สำคัญ

ปัจจุบัน การใช้ B10 มีปริมาณในระดับ 17 ล้านลิตร/วัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 20 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งภายในเดือนนี้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะออกประกาศคุณลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล เพื่อให้สถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนคำเรียกชื่อ จาก B7 ที่เรียกว่าน้ำมันดีเซล เป็น B7 ส่วน B10 จะเรียกว่าน้ำมันดีเซล หลังจากที่ได้ประกาศให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานแทน B7 มาตั้งแต่ต้นปี 63 โดยการเปลี่ยนคำเรียกชื่อในสถานีบริการน้ำมันนั้นจะให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การเดินหน้าสนับสนุนการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานก็จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ B100 เพิ่มขึ้นเข้าสู่เป้าหมายตาม 6.5 ล้านลิตร/วันในอนาคต และจะช่วยดูดซับ CPO ได้ตามแผน ขณะที่ระยะสั้นก็จะขอให้ บมจ.ปตท. (PTT) เร่งซื้อ B100 ล่วงหน้าเข้ามาสต็อกมากขึ้นด้วย

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้มีการใช้กลไลของเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ซื้อขายเพื่อดูแลราคาปาล์มทั้งระบบ สกัดกั้นกลไกของพ่อค้าคนกลางรวมถึงการตัดวงจรการลักลอบนำเข้า CPO โดยในวันที่ 15 พ.ค. กรมธุรกิจพลังงานจะประชุมร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการโรงงาน B100 เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้ซื้อ B100 ซึ่งจะส่งผลให้ราคา CPO และราคาผลปาล์มมีความสมดุลกันมากขึ้น โดยหากผู้ผลิตและผู้ซื้อมีความพร้อมก็คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนมิ.ย.นี้

เช่นในกรณีปัจจุบันที่ราคา CPO อยู่ที่ 21 บาท/กิโกลรัม ราคาผลปาล์มควรอยู่ที่ 3.50 บาท/กิโลกรัม แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันราคาปาล์มกลับอยู่ที่ 2.7-2.9 บาท/กิโกลกรัม ซึ่งการนำบล็อกเชนมาใช้เป็นตัวกลางควบคุม ก็จะทำให้ราคาปาล์มทั้งระบบมีความสมดุลตามที่ควรจะเป็นเมื่อซื้อ B100 ที่ 23 บาท/ลิตร ราคา CPO จะอยู่ที่ 21 บาท/กิโกลรัม ก็จะสะท้อนไปราคาผลปาล์มที่ระดับ 3.50 บาท/กิโลกรัม

"เราจะใช้ B100 มาคุมกลไกเหล่านี้ จะเริ่มทดลองทำ ท่านอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานจะไปหารือกับโรงงาน B100 ในวันศุกร์เพื่อเอากลไกบล็อกเชนมาใช้ จะได้ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ราคาของปาล์มน้ำมันก็จะสอดรับกับราคา CPO ที่ซื้อ อันนี้เป็นเรื่องใหม่ของไทย เป็นนวัตกรรมการซื้อ CPO การซื้อ B100 แล้วนวัตกรรมเหล่านี้มีข้อดี คือตัดการกดราคากลไกคนกลาง ผลที่จะตามมาคือไปตัดวงจรการลักลอบการนำเข้าของ CPO เพราะถูกบล็อกเชนจับไปถึงเกษตรกร นับเป็นการปฏิรูปใหญ่ของกลไกของปาล์มน้ำมัน"นายสนธิรัตน์ กล่าว

ปัจจุบันโรงงาน B100 จะเป็นผู้รับซื้อ CPO มาผลิต B100 โดยปัจจุบันมีอยู่ 14 โรงงาน กำลังการผลิต B100 รวม 8.2 ล้านลิตร/วัน โดยมีการผลิตจริงราว 4-5.5 ล้านลิตร/วันในปัจจุบัน ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันจะเป็นผู้เก็บสต็อก B100 โดยปัจจุบันมีสต็อก B100 ของกลุ่มผู้ผลิตอยู่ที่ 60 ล้านลิตร และสต็อก B100 ของกลุ่มโรงกลั่นและผู้ค้าราว 31 ล้านลิตร ซึ่งการเก็บสต็อก B100 เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ช่วยดูดซับ CPO ออกจากระบบได้มากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันสต็อก CPO มีอยู่ราว 2.5 แสนตัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการลดประเภทชนิดน้ำมันในตลาดนั้น ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์การโควิด-19 ให้สิ้นสุดก่อน เพราะจะมีผลต่อสถานการณ์การใช้และราคาพลังงาน โดยเบื้องต้นมองว่ามีแนวโน้มที่จะยกเลิกการจำหน่าย B20 เพราะราคา B100 เพิ่มขึ้น ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งหากยังคงสนับสนุน B20 เพิ่มขึ้นก็อาจจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยมากขึ้นด้วย

รวมถึงนโยบาย E20 ที่มีส่วนของเอทานอล 20% ในน้ำมันเบนซิน จากเดิมที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในช่วงไตรมาส 3/63 แต่ต้องชะลอออกไปก่อน เพราะต้องนำแอลกอฮอล์ไปใช้รองรับในเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความต้องการใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ