(เพิ่มเติม2) สภาพัฒน์ เผย GDP Q1/63 หดตัว -1.8%, ทั้งปี -6% ถึง -5% ตามภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2020 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม2) สภาพัฒน์ เผย GDP Q1/63 หดตัว -1.8%, ทั้งปี -6% ถึง -5% ตามภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง -1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/62 จากตลาดคาด -4.5% ถึง -3.8% ด้านการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว

ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการผลิตสาขาไฟฟ้า และก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลง 2.2% จากไตรมาส 4/62 (QoQ_SA)

"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ของปีนี้ที่ปรับตัวลดลง -1.8% ถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ในปี 57 ที่ GDP อยู่ที่ระดับ -0.4% หรือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี"

เลขาธิการสภาพัฒน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงที่ลดลงต่ำสุดของปีนี้ เนื่องจากหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนตัวเลขจะลดลงอยู่ในระดับเท่าใดนั้น ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

"คาดว่า Q2 น่าจะหนักสุดของปีนี้ สาเหตุเป็นเพราะทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน การท่องเที่ยว ตลอดจนธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่วนจะลดลงไปมากแค่ไหน คงต้องรอประเมินตัวเลขอีกครั้ง" นายทศพร กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจากนั้นคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลง หลังจากที่ภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายให้กับภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นการประคองช่วยสถานการณ์เศรษฐกิจไว้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเทศไทยคงมีโอกาสน้อยที่จะมีการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดในรอบสอง เนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างเข้มแข็งของไทย

ขณะที่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่าจะปรับตัวลดลง -6.0 ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลง -8.0% การบริโภาคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ปรับตัวลดลง -1.7% และ -2.1% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 63 ที่คาดว่าจะลดลง -6 ถึง -5% อยู่บนข้อสมมติฐานดังนี้ 1.เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะลดลง -2.8% ส่วนปริมาณการค้าโลกลดลง -10% 2. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 31.80-32.80 บาท/ดอลลาร์ 3.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 33-43 ดอลลาร์/บาร์เรล 4.ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ปีนี้คาดว่าจะลดลง -2.5% ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ปีนี้คาดว่าจะลดลง -1.5% 5.รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท ลดลงถึง 68.8% 6. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 63 ที่ราว 90% ของวงเงินงบประมาณ และมีการใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 63 ได้ราว 5.63 แสนล้านบาท

"เราคาดการณ์ฉากทัศน์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปตัว U สภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ไว้ว่าจะอยู่ในช่วง -6 ถึง -5% มีค่ากลางที่ -5.5% ประมาณการนี้อยู่บนสมมติฐานตัวแปรคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดของไทยไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรอบสอง, มาตรการผ่อนคลายจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3, และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส 4" นายทศพร กล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ 1.ความไม่แน่นอนของการระบาดและความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศสำคัญๆ 2.ความพร้อมและความสามารถของภาคการผลิตในการกลับมาประกอบธุรกิจภายหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ 3.การผ่อนคลายมาตรการ การปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทสสำคัญ 4.ปัจจัยอื่นๆ เช่น การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพของประเทศที่สำคัญ

ส่วนปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มดีขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเงินการคลัง, การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ และมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ของภาครัฐที่มีต่อสถานประกอบการและภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ

นายทศพร กล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 63 ควรให้ความสำคัญกับการประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง

การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และข้อจำกัดการเดินทางควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวสอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19

การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมาและได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น

การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่าง ๆ ของภาครัฐ ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 90.2% ของวงเงินงบประมาณ โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 99.0% และ 55.0% ตามลำดับ, การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 90.0%, การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 75.0% และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง

การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงสำคัญๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีและในระยะปานกลาง

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์มีความผันแปรไปมากกว่านี้ รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลก และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนมีการผันผวนมากไปกว่านี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังมีโอกาสจะลดลงได้มากกว่าที่สภาพัฒน์ประเมินไว้ แต่ในทางตรงกันข้ามหากปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็อาจจะดีกว่าที่ประเมินไว้ได้เช่นกัน พร้อมมองว่าการลงทุนภาครัฐ และการอุปโภคภาครัฐ น่าจะยังเป็นเครื่องยนต์ที่ช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 63 นี้ไว้ได้

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงการใช้เงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า ในส่วนของงบประมาณที่ใช้เพื่อการเยียวยา 555,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ใช้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว 37 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางอีก 14 ล้านคน คงเหลืองบประมาณในส่วนนี้อีกราว 190,000 ล้านบาท ส่วนอีก 45,000 ล้านบาท เป็นงบที่ใช้สำหรับการพัฒนาด้านสาธารณสุขของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

โดยงบประมาณในส่วนของ 4 แสนล้านบาทนี้ จะเน้นลงทุนในส่วนของกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงส่งเสริมการกระตุ้นการบริโภคภายในครัวเรือนและเอกชน การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

"เงินก้อนนี้จะใช้เป็นเหมือนหัวเชื้อ (Seed money) เป็นเงินที่ลงไปเพื่อเพาะพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานความแข็งแกร่งของประเทศไปสู่ไบโออีโคโนมี เน้นความเป็นไทย Safe Zone ดึงนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามา และใช้เงินนี้สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศไทย คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้เริ่มต้นพิจารณาโครงการแล้ว คาดว่าจะลงสู่ภาคปฏิบัติตั้งแต่ก.ค.เป็นต้นไป โดยเน้นความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม" นายทศพรกล่าว

พร้อมระบุว่า จุดขายใน 2 ด้าน ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นและได้เปรียบประเทศอื่น คือ 1.ภาคเกษตร 2.การท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ซึ่งจากการที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับด้านระบบสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งแล้ว จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเชื่อมโยงไปถึงการเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้ซื้อสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารของไทย รวมถึงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ในเชิงคุณภาพ และจากการที่ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ก็ยิ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติว่าไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความน่าลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ