"วิรไท"แจงพ.ร.ก.กู้เงินธปท. 2 ฉบับไม่ใช่การกู้เพื่อใช้จ่าย แต่เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ ยันมีเงื่อนไขคุมคุณภาพรัดกุม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2020 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารเห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงการออกพ.ร.ก. 2 ฉบับในส่วนของธปท.ที่มีการอภิปรายในสภาฯว่า ไม่ควรเรียกว่าพ.ร.ก.กู้เงิน เพราะหัวใจของ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับคือการให้อำนาจ ธปท. เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตรงจุด เพราะว่าเมื่อครบเวลา 2 ปี เงินที่ ธปท. ปล่อย soft loans ผ่านสถาบันการเงินไปให้ SMEs สถาบันการเงินก็ต้องเอากลับมาคืน ธปท.

ส่วนเงินที่ ธปท.จะลงทุนผ่านกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF เป็นการให้ bridge financing ชั่วคราว เมื่อครบกำหนดเอาเงินกลับมาคืน ธปท. (ธปท. ถึงต้องเน้นเรื่องคุณภาพของตราสารที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย)

ทั้งกลไกของ soft loans และกองทุน BSF ไม่ใช่การกู้เงิน 900,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ได้สร้างภาระการคลัง 900,000 ล้านบาท หรือไม่ได้สร้างภาระภาษี 900,000 ล้านบาทให้ลูกหลานเหมือนกับที่หลายท่านกังวล

นายวิรไท ระบุว่า ทั้ง 2 กลไกอาจจะสร้างภาระการคลังในอนาคตได้บ้าง ถ้าสินเชื่อ soft loans ที่ปล่อยให้ SMEs จำนวนมากเกิดกลายเป็นหนี้เสีย หรือตราสารหนี้ที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งตาม พ.ร.ก. แล้วรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้เพียงบางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. ตระหนักดีว่าทั้ง 2 กลไกที่ ธปท. เสนอไม่พึงสร้างภาระการคลังให้กับคนไทยในอนาคต จึงต้องมีเงื่อนไขด้านคุณภาพอย่างรัดกุมทั้งการปล่อยสินเชื่อผ่าน soft loans และการลงทุนผ่านกองทุน BSF


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ