ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดราคาสินค้าเกษตรหลักปรับลดลงใน H2/63 เหตุผลผลิตออกมาก-โควิดกระทบดีมานด์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 28, 2020 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สถานการณ์สินค้าเกษตรอาจให้ภาพที่แย่ลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่ง แรกของปี โดยในแง่ของราคาสินค้าเกษตรจะได้รับแรงกดดันเป็น Double Shock ทั้งในฝั่งของอุปทาน ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตมากขึ้น และในฝั่งของอุปสงค์ที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะฉุดรั้งความต้องการ สินค้าเกษตรจากไทย

ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ประเมินว่า ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค.อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานี ญากำลังอ่อน ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณฝนที่อาจตกมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ที่อาจมีฝนตกชุก หนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูกเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน จะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลาย พื้นที่ อย่างไรก็ดี คาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติราวร้อยละ 5.0 แต่จะมากกว่าปีก่อนที่น้อยกว่าค่า ปกติราว 11.0% ทำให้ภาพรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สภาพอากาศของไทยจะเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรจากปริมาณน้ำฝนที่คาด ว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลต่อภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรที่อาจอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะข้าวนาปี

สำหรับปัจจัยฉุดรั้งสำคัญอย่างโควิด-19 ที่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 น่าจะยังมีอยู่และสร้างความเปราะบางให้กับ เศรษฐกิจโลกต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ตามการคาดการณ์ของ IMF ว่า โดวิด-19 จะฉุดภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ให้เข้าสู่ ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วโลก จนส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้า โภคภัณฑ์ให้มีแนวโน้มลดลงได้

ทำให้คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ราคาสินค้าเกษตรอาจหดตัวราว 4.5% (YoY) ผลผลิตอาจเพิ่มขึ้น 4.3% (YoY) ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น โดยอาจหดตัวที่ 0.7% (YoY)

สินค้าเกษตรหลัก                              รายละเอียดแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรช่วง H2/63 เทียบกับ H1/63
ข้าว                    ราคาข้าวอาจปรับลดลง แต่ก็นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลของฐานในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่า

ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นเอื้ออำนวยต่อการผลิต ประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศ

อาจลดลง เนื่องจากผลของโควิด-19 ที่ยังสร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้โดยรวมแล้วราคา

ข้าวอาจหดตัวถึง 6.6% (YoY)

ยางพารา                ราคายางพาราอาจปรับลดลงในกรอบแคบๆ โดยน่าจะเป็นระดับราคาของวัฎจักรใหม่บนฐาน New

Normal จากปัจจัยกดดันสำคัญอย่างโควิด-19 ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราจากต่างประเทศ โดย

เฉพาะจีนในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงสต๊อกยางจีนในระดับสูง และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่

ยังอยู่ในระดับต่ำ

มันสำปะหลัง              ราคามันสำปะหลังอาจปรับลดลง ปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการของจีนที่ชะลอลง โดยเฉพาะใน

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อ้อย                    ราคาอ้อยอาจปรับตัวลดลง จากแรงฉุดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการซื้อลดลง จนกดดันราคาน้ำตาล

ทรายดิบในตลาดโลกให้อยู่ในช่วงขาลง ขณะที่เมื่อเทียบกับในช่วงม.ค.-เม.ย.ราคาอ้อยพุ่งสูงจากการ

เกิดภัยแล้งที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตอ้อยจำนวนมาก

ปาล์มน้ำมัน               ราคาปาล์มน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลง ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกด้วยผลของ

แรงฉุดโควิด-19 ขณะที่ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้น

จนดันราคาในช่วงต้นปีจากอุปสงค์ในน้ำมัน B10

          ดังนั้น นับเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐในการช่วยประคับประคองสถานการณ์ภาคเกษตรของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
ผ่านการดำเนินงานด้านนโยบายการเกษตรระยะสั้นที่อาจต้องมีความต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก
จะเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตรและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น
ซึ่งภาครัฐอาจต้องมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายการยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ก่อนพืชรายการอื่น
อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นกลุ่มพืชที่มีแนวโน้มราคาอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง อีกทั้งยังมีจำนวนเกษตรกรจำนวนมากจนอาจส่งผลกระทบต่อ
ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้
          สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจการเกษตรเองอาจต้องปรับในระยะสั้นด้วยการขยายตลาดผ่านช่องทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่าง
การขายออนไลน์จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับข้อมูลการผลิตได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถทำการซื้อขาย
สินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาโดยผู้ผลิตสามารถแสดงให้เห็นผลผลิตต่างๆ ภายในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสั่งซื้อได้
ซึ่งจะเป็นการขยายช่องทางการตลาดและทำให้การดำเนินธุรกิจราบรื่นยิ่งขึ้น อันจะเป็นแนวทางในการปรับตัวของสินค้าเกษตรไทยในระยะ
สั้นท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญรอบด้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ