สรท.เผย ธปท.เห็นพ้องดูแลบาทไม่ให้แข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ,แนะประสานแบงก์คลายเกณฑ์ Soft Loan

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 6, 2020 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และคณะกรรมการ สรท. ได้หารือกับคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดย สรท. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ส่งออกรายอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพื่อให้ ธปท. สามารถกำหนดนโยบายด้านการเงินเพื่อสนับสนุนภาคการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

สรท. ได้นำเสนอสถานการณ์การส่งออกรายสินค้าในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 และคาดการณ์ทิศทางการส่งออกรายสินค้าและภาพรวมของการส่งออกของไทยในปี 2563 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวถึง -8% ขณะที่ ศักยภาพด้านการลงทุนของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทำให้ไม่อาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนซึ่งต้องการออกจากประเทศจีนเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศให้มากขึ้น

ทั้งนี้ สรท. และ ธปท. เห็นพ้องในการกำหนดมาตรการเพื่อดูแลค่าเงินบาทมิให้แข็งค่าเกินกว่าพื้นฐานที่แท้จริงทางเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยเฉพาะการพิจารณามาตรการเพื่อควบคุมปัจจัยที่เกิดจากการซื้อขายทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปและการเคลื่อนย้ายเงินจากต่างประเทศของ Non-Resident เป็นต้น

นอกจากนี้ สรท. ได้ชี้แจงถึงอุปสรรค และแนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ (Soft Loan) อาทิ 1) ธนาคารพาณิชย์มีการกำหนดเงื่อนไขการอนุมัติวงเงินสินเชื่ออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกำหนดให้ต้องมีหลักทรัพย์ใหม่ในการขอสินเชื่อ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงต้องบริหารจัดการหลักทรัพย์เดิมตามขั้นตอนของธนาคารพาณิชย์ ทำให้การหาหลักทรัพย์ใหม่เพื่อขอสินเชื่อเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในสภาวะเปราะบางทางธุรกิจไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อรักษาสภาพคล่องได้ทันท่วงที

คณะกรรมการ สรท. จึงเน้นย้ำให้ ธปท. เร่งประสานการผ่อนคลายเงื่อนไขการประเมินให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อการประกอบธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง 2) กำหนดระยะเวลาโครงการ 2 ปี ค่อนข้างสั้นเนื่องจากการผลิตยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์จากการหดตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถฟื้นฟูกิจการและชำระคืนเงินต้นได้ทัน จึงควรขยายระยะเวลาโครงการเป็น 4-5 ปี ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธปท. ตอบรับพิจารณาแนวทางปฏิบัติให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้มากขึ้น และในเบื้องต้นจะประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ให้ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ SMEs ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ