ส.อ.ท.เปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 หนุนสินค้าไทย เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ลดพึ่งพาต่างชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 23, 2020 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลัง โควิด-19 เปิดแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด-19 ว่า มุ่งเน้นการพัฒนา 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ และอุตสาหกรรมดั้งเดิม 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ ดังนี้

1) สนับสนุนสินค้าไทย (Made in Thailand) ซึ่งได้นำเสนอกับกรมบัญชีกลางในการปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ให้เพิ่มแต้มต่อในด้านการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

2) เน้นการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตลอดซัพพลายเชน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบจาก Trade War เมื่อปีที่ผ่านมา และยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้ขาดชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการปิดประเทศและการ Lock Down ของจีน แต่บางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการสั่งของจากต่างประเทศไม่ได้ จึงหันมาสั่งของจากไทย แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จึงเป็นที่มาของ Deglobalization การหันกลับมาพัฒนาสิ่งของหรือวัตถุดิบใช้เองในประเทศ นอกจากนี้กรณี Trade War รอบสองเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น การจะทำให้ซัพพลายเชนในประเทศกลับมาได้ คือการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ

3) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและอาหาร ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจ้างงาน แต่ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีมากคือความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรม Bio Economy การทำเกษตรแปรรูป เกษตรเพิ่มมูลค่า จะเป็นสิ่งที่ตรงกับคนไทยมากที่สุดในอนาคต และเป็นความต้องการของโลกด้วย

"เราจะใช้ต้นแบบห่วงโซ่การผลิตจากไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้อีก 20% โดยในช่วง 3-5 ปีจะสามารถทดแทนการนำเข้าได้ราว 10% วิกฤตโควิด-19 ทำให้คิดว่าเราควรหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง" นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสำคัญในอนาคต 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมดิจิทัล 2.อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสุขภาพ 3.เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ 4.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 5.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ 6.อุตสาหกรรม Bio Economy

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม, คลัสเตอร์ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะหน่วยงานภาคเอกชน เห็นว่าเรื่องแผนฟื้นฟูควรเป็นแผนระยะยาวที่มีความยั่งยืนและต่อยอดได้ ดังนั้น ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นความร่วมมือจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมทั้ง 5 ภาค เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการฟื้นฟูฯ เพื่อร่วมพิจารณาเสนอโครงการนำร่องจากแต่ละภาค และให้คลัสเตอร์และกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคการเกษตร โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการสำเร็จได้ คือ

Ownership ต้องมีเจ้าภาพดำเนินการ อาจเป็นมืออาชีพ หรือผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ

Business Plan ต้องมีแผนธุริจที่ชัดเจน การดำเนินงานจะต้องมีกำไร ขยายต่อไปได้อย่างยั่งยืน

Co-Operation การเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

"ตอนนี้กำลังให้แต่ละจังหวัดลงไปรับฟังความคิดเห็นว่ามีศักยภาพที่จะให้การส่งเสริมในเรื่องใดได้บ้าง" นายเกรียงไกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ